THAI คาดออกจากฟื้นฟู Q2/68 -โกยกำไร 1,538 ล้านบ.Q3/66

HoonSmart.com>>”การบินไทย”(THAI) เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  ไตรมาส 3/66 กำไรฟู  1,538 ล้านบาทพลิกจากขาดทุน  แนวโน้มปี 67 เจอการแข่งขันสูง ปัจจัยลบกระทบต้นทุน-ลูกค้า คาดออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไตรมาส 2/68 หลังเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน-ขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 8 หมื่นล้านบาทเสร็จปลายปี 67 เพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก 

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า บริษัทการบินไทยคาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ประมาณไตรมาส 2/2568  หลังจากแปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2567 จำนวน 8 หมื่นล้านบาทเพื่อให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก ทั้งนี้ ณ 30 ก.ย. 2566 ส่วนของผู้ถือหุ้น THAI ติดลบ 54,706 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 16,318 ล้านบาท  มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำและหุ้นกู้ที่ ครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 63,387 ล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 มีกำไรสุทธิ 1,537.69 ล้านบาท พลิกจากที่มีผลขาดทุน 4,785.17 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน และรวม 9 เดือนปีนี้กำไรทั้งสิ้น  16,313.54 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 11,252.54  ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยไตรมาสที่ 3/2566 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6% โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0%

สำหรับค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) มีจำนวน 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม)

“THAI มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท  มีต้นทุนทางการเงิน จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ ในปีนี้เพิ่มขึ้น 3 ลำ ”

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2566 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1/2567 แม้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายภูมิภาค แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะปรับตัวรุนแรงขึ้นจากการที่สายการบินต่างๆ เริ่มทยอยนำเครื่องบินกลับมาทำการบินในระดับที่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกนของสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส การนำเครื่องบินแอร์บัสแบบ A380 กลับมาบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิกของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลายๆ เส้นทาง โดยเฉพาะทวีปยุโรปและกรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นไปอย่างล่าช้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดการด้านค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดและมีวินัย เพื่อให้การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ