ดาวโจนส์ปิดบวก 56 จุด บอนด์ยีลด์อ่อนตัวหนุนกลุ่มเทคโนโลยี

HoonSmart.com>>ดาวโจนส์ปิดบวก 56 จุด กลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น กลุ่มพลังงานลดลง  หลังราคาน้ำมันดิ่งลงแรงกว่า 4%  ด้านตลาดหุ้นยุโรปติดลบ จับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนาย ประธานเฟดในสัปดาห์นี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดวันที่ 7 พ.ย. 2566 ที่ 34,152.60 จุด เพิ่มขึ้น 56.74 จุด หรือ 0.17% การซื้อขายคึกคักต่อเนื่องในวันอังคาร เนื่องจากความเชื่อมั่นที่กลับมาใหม่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ได้ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อ่อนตัวลงช่วยหนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,378.38 จุด เพิ่มขึ้น 12.40 จุด, +0.28%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,639.86 จุด เพิ่มขึ้น 121.08 จุด, +0.90%

ทั้งดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร เป็นการปรับขึ้นติดกันนานที่สุดในรอบเกือบสองปี โดยดัชนี S&P 500 ปรับขึ้นเป็นวันที่ 7 ติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การปรับขึ้นติดกัน 8 วันในเดือนพฤศจิกายน 2021 ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับขึ้น 8 วันติดกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การปรับขึ้น 11 วันติดกันในเดือนพฤศจิกายน 2021 และดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน นานที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นเนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลงมาที่ 4.573% หุ้นบริษัทที่ได้รับความนิยมทั้งแอมะซอนและเซลส์ฟอรซ์ต่างเพิ่มขึ้นกว่า 2% ขณะที่หุ้นแอปเปิ้ล ไมโครซอฟต์ และเมตา แพลตฟอร์มส ต่างเพิ่มขึ้นประมาณ 1%

โมนา มาฮาจัน นักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโสของEdward Jonesกล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่ม growth ฟื้นตัวมาก และราคาน้ำมันที่ลดลงอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ จึงมีผลต่อกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้ยังเป็นแรงส่งที่ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว และยังไม่เห็นการปรับฐานจากที่ปรับขึ้นในช่วง 6 วันที่ผ่านมา

หุ้นกลุ่มพลังงานลดลง หลังจากราคาน้ำมัน WTI ลดลงกว่า 4% โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ลดลง 1.57% หุ้นเชฟรอน ลดลง 1.76%

สัญญาณล่าสุดของเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอลงส่งสัญญาณไปยังตลาดว่าเฟดสามารถผ่อนคลายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แต่นักลงทุนประเมินการให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินไปซึ่งอาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ แม้ได้คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่ผ่านมา

นายนีล แคชคารี ประธานเฟดแห่งมินนิอาโปลิส เน้นย้ำทั้งวันจันทร์และวันอังคารว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะมีงานที่ทำในระยะต่อไปเพื่อคุม เงินเฟ้อ นายแคชคารีเป็นหนึ่งในสมาชิกเฟดอีกหลายคนที่ให้ความเห็นถึงความระมัดระวังในวันอังคาร

นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการ กล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 สูงมากที่ 4.9% เมื่อเทียบรายปี ทำให้ต้องจับตา ในขณะที่เฟดพิจารณาการดำเนินนโยบายครั้งต่อไป

นางมิเชล โบว์แมน อีกหนึ่งในคณะผู้ว่าการ กล่าวว่า ได้ใช้ตัวเลข GDP ล่าสุดมาเป็นหลักฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ยังคงแข็งแกร่ง เท่านั้น แต่ยังอาจขยายตัวอย่างรวดเร็วและทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดต้องสูงขึ้น

ไมเคิล ฮิวสัน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของ CMC Markets ในอังกฤษกล่าวว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วมีความคาดหวังว่าเฟดเสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว จากตลาดแรงงานชะลอตัว และเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัว แต่นักลงทุนเริ่มมองชัดมากขึ้นเล็กน้อยว่า มีความเสี่ยงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก

นักลงทุนจับตาการให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายรายในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในวันที่ 8 และ 9 พฤศจิกายนนี้
เฟด สาขาแอตแลนตา รายงานแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุด แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายตัว 2.1% จากที่ขยายตัว 2.2%ในไตรมาส 1 และขยายตัว 2.1% และ 4.9% ในไตรมาส 2 และ 3 ตามลำดับ

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าในเดือนกันยายนสหรัฐฯขาดดุลการค้าในภาคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 4.9% มีมูลค่ารรวม 61.5 พันล้านดอลลาร์สูงกว่า 59.9 พันล้านดอลลาร์ที่นักวิเคราะห์คาด โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.7% มีมูลค่า 322.7 พันล้านดอลลาร์ การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.2% มูลค่า 261.1 พันล้านดอลลาร์

ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดลบท่ามกลางการรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากตลาดหุ้นโปรตุเกสที่ร่วงลง หลังนายกรัฐมนตรีอันโตนิโอ คอสตา ลาออกจากตำแหน่ง จากกรณีการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำผิดในการจัดการโครงการเหมืองแร่ลิเทียมและไฮโดรเจนในประเทศ

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่ลดลงเกินคาดในเดือนกันยายน โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทำให้มีข้อบ่งชี้เพิ่มเติมถึงภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในยุโรป

นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้

หุ้น Watches of Switzerland นำการปรับขึ้นโดยบวก 13% หลังรายงานรายได้ที่สูงกว่าคาดและคาดการณ์ว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในปีบัญชี 2028
หุ้นยูบีเอสบวก 1.8% จากผลการดำเนินงานรายไตรมาสที่ดีกว่าคาดหุ้นกลุ่มพลังงานลดลง 2.5% หลังราคาน้ำมันดิบตกลงด้วยความวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 442.81 จุด ลดลง 0.71 จุด, -0.16%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,410.04 จุด ลดลง 7.72 จุด, -0.10%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่6,986.23 จุด ลดลง 27.50 จุด, -0.39%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,152.64 จุด เพิ่มขึ้น 16.67 จุด, +0.11%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนธันวาคมลดลง 3.45 ดอลลาร์ หรือ 4.3% ปิดที่ 77.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมกราคมลดลง 3.57 ดอลลาร์ หรือ 4.2% ปิดที่ 81.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เร