‘อัสสเดช’ใช้ ‘ดาต้า-สื่อสาร’ เพิ่มเท่าเทียม หนุน บจ.เร่งโตเพิ่มมูลค่าตลาดดึงดูดทุนตปท.

HoonSmart.com>>“อัสสเดช คงสิริ”เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนที่ 14 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา เวลาที่ผ่านมาเพียง 2 เดือนเศษ ดูเหมือนตลาดมีความเชื่อมั่นดีขึ้น เมื่อการทำงานเดินตามหลักการ “ทำเพื่อส่วนรวม และความเท่าเทียม” ปรับการสื่อสารให้ตรงประเด็น ทันสถานการณ์ โดยไม่ได้เพิกเฉยต่อ “ประเด็นในอดีต”พร้อมหาโอกาสเพิ่มมูลค่าตลาดอย่างมั่นคง ผ่านกลยุทธ์ Jump+ เพิ่มกำไรบจ. สร้างเสน่ห์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกลับมาได้ไม่ยาก 

“ยิ่งสัมผัสผมยิ่งอยากใช้หลักการนี้ เพราะการเพิ่มความเท่าเทียมได้ จะสร้างโอกาสให้กับทุกคน ตลาดหุ้นเป็น”ตลาดของเรา”ไม่ใช่ตลาดของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นได้”

ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนนี้ ได้เริ่มงานด้วยการพบปะกับผู้ร่วมตลาดทุกฝ่าย ด้วยหลักคิด เปิดกว้างยินดีรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก เช่น สมาคมบลจ. นักลงทุนสถาบัน ส่วนนักลงทุน”รายย่อย” ก็ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ผู้จัดการตลาดคนที่ผ่านมาได้ฝากงานไว้ ขณะเดียวกันการให้ความรู้ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อสร้างนักลงทุนคุณภาพ เพิ่มนักลงทุนหน้าใหม่ นอกจากนี้ตลาดมีการสร้างนักลงทุนมืออาชีพ จัดโครงการคัดเลือกผู้สนใจอย่างเข้มข้นเข้าอบรมเรื่องอนุพันธ์ในเชิงลึกไปแล้ว

วิเคราะห์ Data กล้าตัดสินใจ สื่อสารเร็วตรงประเด็น

การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ในยุคนี้ใช้ “Data-ข้อมูล”ที่มีอยู่จำนวนมาก มาวิเคราะห์ให้ชัดเจนและกล้าตัดสินใจ มีการสื่อสาร “ตรงประเด็น”เพื่อสร้างความเท่าเทียมกับทุกฝ่าย เห็นตัวอย่างจากการออกจดหมายเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการซื้อขายหุ้นอย่างฉับไว ตลาดมีการติดตามการซื้อขายตลอด ยอมให้กลไกตลาดทำงาน แต่ทุกอย่างควรจะกลับมาดูปัจจัยพื้นฐาน และจะต้องอธิบายได้ แต่การดูแลจะต้องสร้างสมดุล (Balance) และบริษัทจดทะเบียนจะต้องทำด้วย  เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับเรื่องบริษัทปตท. และ”หมอบุญ” ต้องชมเชยทางบริษัทสามารถสื่อสารได้เร็วและชัดเจน ทำให้ไม่ลุกลาม

ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์มีการปรับการทำงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก ด้วยการมอบหมาย “ผู้รับผิดชอบงานโดยตรง”ให้ข้อเท็จจริงที่รวดเร็วทันสถานการณ์ และการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศึกษาหาทางออก”หุ้นใหญ่น้ำหนักมากเกินไป”

สำหรับเรื่องที่เคยเป็นประเด็นในอดีต เช่น เรื่อง Naked Short Selling คือการขายหุ้นก่อนโดยไม่มีหุ้นในมือ “อัสสเดช กล่าวว่า เรื่องนี้ ยังไม่ได้หายไปจากความคิดของตลาด ต้องวิเคราะห์ดู โดยยอมรับว่ายังคงมีอยู่บ้างเพียงส่วนน้อย แต่การออกกฎเกณฑ์มาดูแล จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาเล็กๆแล้วกระทบกับคนหมู่มาก

ที่ผ่านมาตลาดมีการออกกฎเกณฑ์มากมาย เช่น uptick และเครื่องหมายต่างๆในการกำกับดูแลการซื้อขาย ตอนนี้เมื่อใช้ไประยะหนึ่งแล้ว จะต้องมีการทบทวนว่ายังจำเป็นหรือไม่  ได้ผลตามที่ต้องการหรือไม่ และส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง บางคนบอกว่า uptick  ควรใช้บางโอกาส หรือสำหรับหุ้นบางตัวที่ร้อนแรงเกินไป  อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวม กฎเกณฑ์ไม่ควรเปลี่ยนบ่อย อาจทำให้นักลงทุนสับสนได้

ส่วนกรณีการไล่ราคาหุ้น DELTA  ที่มีน้ำหนักมากในการคำนวณดัชนี SET 50  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกำไรในตลาดอนุพันธ์นั้น “อัสสเดช”กล่าวว่า ตลาดไม่ได้ละเลย จากการตรวจสอบไม่พบการกระทำเช่นนั้น สาเหตุที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากหุ้นมีฟรีโฟลทน้อยมาก ปัจจุบันกำลังศึกษาแนวทางการดูแล ซึ่งมีหลายมุมมาก  เช่น เกณฑ์การนับฟรีโฟลทของตลาดหุ้นไทยกับต่างประเทศ  ซึ่งของต่างประเทศต่ำกว่า 5% ก็นับเป็นฟรีโฟลท นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่อง การคุมน้ำหนักมาร์เก็ตแคปในการคำนวณดัชนีด้วย

“เรื่องนี้มีหลายมุมที่จะต้องตัดสินใจ และจะเลือกรูปแบบไหน เพื่อสร้างความสมดุลในตลาด เรื่องจำกัดน้ำหนักในการคำนวณดัชนี SET 50 ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการศึกษา แต่จะตัดสินใจและนำมาใช้อย่างไรให้เป็น soft landing”

สำหรับเรื่องการสร้างราคาหุ้น การซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมเชื่อว่าการเซ็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานก.ล.ต.และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) น่าจะช่วยลดการกระทำผิดลงได้  ทางตลาดดูพฤติกรรมการซื้อขาย เป็นต้นตอของข้อมูล และทำงานกับก.ล.ต.อย่างใกล้ชิด ปปง.มีอำนาจในการอายัดทรัพย์ ดังนั้นผู้ที่จะกระทำความผิดจะต้องเกรงกลัวกับการอายัดทรัพย์ได้เร็วขึ้น

หุ้นเทรด P/E 20 เท่าไม่ถูก หาทางหนุนบจ.M&P ดันกำไรพุ่ง

“อัสเดช”กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยที่เคยเห็นมากกว่า 1,700 จุด แต่ตอนนี้ลงมาอยู่ที่ 1,400 จุดเศษ ในช่วง 2-3 ปีนี้ นักลงทุนหายไปเยอะ มูลค่าการซื้อขายต่อวันก็ลดลงมาก เพราะพื้นฐาน โชคดีที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาบ้าง จากหลายปัจจัย เช่น มีกองทุนวายุภักษ์ กนง.ลดดอกเบี้ย  แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันซื้อขายที่ P/E 20 เท่า ถือว่าสูงที่สุดในเอเชีย ปีหน้าตลาดจะไปถึงจุดไหน ตอบไม่ได้ ถ้าจะให้ดัชนีขึ้นไปถึง 2,000 จุด P/E ต้อง 40 เท่า เฉลี่ยแล้วกำไรต่อหุ้นของบจ.ใน 5 ปีข้างหน้า ต้องโตเฉลี่ย 6.72% แต่ปัจจุบันโตเพียง 2-3% เท่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไข ต้องเพิ่มความน่าสนใจของบจ. และสร้างเสน่ห์สภาพคล่องในการซื้อขายกลับมา

ตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการออกแบบการใช้โปรแกรม “Jump+” มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้ บจ. เน้นบริษัทที่มีศักยภาพ และมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าขับเคลื่อนความยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนให่เกิดการควบรวมกิจการและร่วมทุนกับพันธมิตร (M&P) เพื่อการพัฒนา เพิ่ม ROA ,ROE กำไร ให้เติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว ซึ่งประธานกรรมการตลาด (กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์) อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างมาจูงใจ ทำให้ดีลเกิดขึ้นง่ายและสะดวก หรือมีกลไกใดมาช่วยเหลือ เพื่อลดต้นทุน การ M&P จะเกิดประโยชน์มาก ทั้งเรื่องแบรนด์แข็งแกร่ง กำลังการผลิตเพิ่ม การเงินและฐานทุนใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันตลาดจะต้องเพิ่มสินค้าที่มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ พยายามหาช่องทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น ไม่มีอุปสรรคด้านภาษา เป็นไปได้ไหมที่จะเทคโนโลยีแปลงข้อมูลของผู้บริหารบจ.หรือบทวิเคราะห์ให้เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งตลาดหุ้นญี่ปุ่นใช้แล้วในการให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลถึง 16 ภาษา

เพิ่มโอกาส”รายย่อย”ลงทุนพันธบัตรรัฐ

ตลาดหลักทรัพย์ยังมีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐได้ง่ายขึ้น และขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง ด้วย Bond Connect Platform และพัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนผ่านตลาดคาร์บอนเครดิต ด้วย Carbon Market Platform  ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่ง Ecosystem ครอบคลุมศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต การพัฒนาบุคลากร และสนับสนุนด้วยเครื่องมือคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon) ให้ง่ายขึ้น คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงต้นปี 2568  ส่วนแผนระยะยาว สนับสนุนธุรกิจของครอบครัว และสตาร์ทอัพ SME เข้าถึงตลาดทุนมากขึ้น

“พื้นฐานที่วางไว้  เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ไม่มีรายได้ ดังนั้นเงินออมในช่วงวัยเกษียณเป็นเรื่องสำคัญ”

นอกจากนี้ นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อย ก็มีโอกาสลงทุนต่างประเทศ ทางเครื่องมือที่มีอยู่ เช่น DR โบรกเกอร์หลายรายออกอ้างอิงความเคลื่อนไหวของดัชนีและหลักทรัพย์ต่างประเทศ  เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น และมีการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตได้มีประสัทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 

 
 
———————————————————————————————————————————————————–