ความจริงความคิด : รู้สิทธิประกันสังคมเผื่อตกงาน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
 

“มนุษย์เงินเดือน กับ คนทำอาชีพอิสระ ใครเสี่ยงกว่ากัน” เสี่ยงกว่าในที่นี้หมายถึง ความเสี่ยงเรื่องการเงิน ความมั่นคงของรายได้นะ ถ้าเป็นสมัยก่อน คำตอบคงชัดเจน คนทำอาชีพอิสระอย่างพวกตัวแทนประกันชีวิตเสี่ยงกว่า เพราะรายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความขยัน ความเก่ง และความเฮง ส่วนมนุษย์เงินเดือน รายได้มั่นคง ได้วันไหน ได้เท่าไหร่ ชัวร์ไม่มีผิด และรู้สึกว่าจะมั่นคงเกินไปด้วยซ้ำ กี่ปีๆก็ได้เท่าเดิม เงินเดือนไม่ขึ้นเลย

แต่ข่าวการปิดโรงงาน หรือ TV ช่องดังประกาศเลิกจ้างพนักงาน ทำให้หลายคนเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าระหว่างมนุษย์เงินเดือนกับอาชีพอิสระ ใครเสี่ยงกว่า? และไม่แน่ใจว่าจะถึงคิวตัวเองเมื่อไหร่?
เมื่อความเสี่ยงด้านรายได้ของมนุษย์เงินเดือนเพิ่มมากขึ้น ในวันที่ต้องออกจากงาน เราควรวางแผนอย่างไรดี อย่างแรกเลย คือ ดูว่าเรามีสวัสดิการอะไรบ้าง สวัสดิการที่ควรรีบทำอย่างยิ่ง คือ เงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (คือพวกผู้ประกันตนในรูปแบบบริษัทที่เรากับนายจ้างร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคม) จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา อย่างไหนก็ได้) โดยต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี ดังนี้ เข่น ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง, ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร, ฯลฯ และต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิในเบื้องต้น

หากขึ้นทะเบียนเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง แปลว่าถ้ามาขึ้นทะเบียนว่างงานจากการลาออกที่สำนักงานจัดหางานวันที่ 30 นับตั้งแต่วันที่มีผลเป็นการออกจากงานพอดี เงินชดเชยจะได้ครบ 90 วัน แต่ถ้ามาวันที่ 31 เงินไม่ได้หายไป 1 วันนะแต่จะหายไป 31 วัน คงเหลือรับเงินชดเชย 59 วัน ยิ่งถ้าไปช้าเท่าไหร่ จำนวนวันเงินที่จะได้เงินชดเชยยิ่งหายไปมากเท่านั้น และหากขึ้นทะเบียนเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว ก็จะหมดสิทธิรับเงินชดเชยกรณีว่างงานเลย เช่น ถ้าลาออกงานแล้วไปขึ้นทะเบียนตอนเกิน 90 วันไปแล้ว ก็จะไม่ได้เงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมเลย

ปัจจุบันเราสามารถชึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานได้สะดวกมากในที่เดียว โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของสำนักงานจัดหางานของรัฐที่ https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก และต้องรายงานตัวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนี้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้งด้วย

เงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมจะให้ใน 2 กรณีแตกต่างกัน คือ กรณีถูกเลิกจ้าง กับ กรณีลาออก โดยกรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยมากกว่ากรณีลาออก คงเพราะประกันสังคมมองว่าคนที่ลาออกเองน่าจะเดือดร้อนน้อยกว่าคนถูกเลิกจ้าง

กรณีถูกเลิกจ้าง

เราจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

ดังนั้น กรณีถูกเลิกจ้าง นายจ้างมักจะให้เซ็นหนังสือลาออก แม้ว่านายจ้างจะให้เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่ผลประโยชน์จากประกันสังคมกรณีถูกเลิกจ้างมากกว่ากรณีลาออกมากนะ และยังเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี ลูกจ้างที่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเพราะถูกเลิกจ้าง (ไล่ออก) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีสำหรับค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 400 วันสุดท้าย (ช่วง 13 ⅓ เดือนล่าสุด) สูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท ส่วนค่าชดเชยที่ได้รับเกิน 600,000 บาทจะต้องเสียภาษีตามปกติ

กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

เราจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

นอกจากนี้เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (กรณีออกจากงาน) เราสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต) รู้เผื่อเอาไว้ เกิดเป็นอะไรช่วงตกงาน ชีวิตก็จะไม่เลวร้ายเกินไป

หมายเหตุ : การคำนวนวันขึ้นทะเบียนให้นับเป็นวันนะไม่ใช่นับเป็นเดือน ถ้าออกวันที่ 21 นับวันที่ 21 เป็น 1 เลยแล้ว ดูดีๆ อย่าให้เกิน 30 วัน เพราะบางเดือนมันมี 31 วัน หลายคนเสียสิทธิประโยชน์เพราะนับเป็นเดือนมาแล้ว

 
 
———————————————————————————————————————————————————–