โลกเสี่ยง!ธปท.ปรับนโยบายตามสถานการณ์ มุ่งเสถียรภาพ-มีภูมิคุ้มกัน-โตจากโอกาสใหม่

HoonSmart.com>>หน้าที่ของธปท.คือระวังไว้ก่อน  ผู้ว่าฯ”เศรษฐพุฒิ”ลั่นเสถียรภาพไทยโดยรวมดี แต่ชะล่าใจไม่ได้ ‘หนี้ครัวเรือน-หนี้สาธาณะ’สูง สถาบันจัดเรทติ้งเตือน ตลาดเริ่มส่งสัญญาณกังวลผ่านเงินไหลออก 8.4 พันล้านดอลลาร์ ค่าเงินผันผวนถึง 8-9% CDS สูง ห่วงโลกเสี่ยงมากขึ้น ” นึกไม่ออก”ผลกระทบตะวันออกกลาง ต้องปรับนโยบายตามสถานการณ์ ปรับจุดสนใจจากระยะสั้นเป็นปานกลางมากขึ้น มุ่ง resiliency (ยืดหยุ่นพร้อมจะเปลี่ยนแปลง) สร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจ-ภาคการเงิน ที่มีภูมิคุ้มกันทนทานกับสิ่งที่จะตามมา มีการเติบโตจากโอกาสใหม่ๆ  

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) กล่าวในงาน “ธปท. พบสื่อมวลชน” Press Trip 2023 ที่จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2566 ว่า ขณะนี้เสถียรภาพของไทยโดยรวมดี แต่ชะล่าใจไม่ได้ มีบางตัวเลขมั่นใจว่าค่อนข้างโอเค แต่มีบางตัวเลขที่โอเคน้อยหน่อย เช่น เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่โอเค ดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกินดุลในปี 2566 และปี 2567 หนี้ต่างประเทศไม่มาก และทุนสำรองระหว่างประเทศมีเพียงพอ ส่วนฝั่งเรื่องระบบธนาคารพาณิชย์ ถ้าดูในแง่ของทุน งบดุล ก็ดูเข้มแข็ง

ส่วนเรื่องหนี้ครัวเรือน ตอนนี้อยู่ที่ 90.7% ต่อจีดีพี แม้จะลงมาจากระดับสูงสุดที่ 94% ต่อจีดีพีในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังถือว่าสูงเกินไป อยากให้กลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงปกติ ซึ่งเกณฑ์ต่างประเทศชอบพูดกัน คือ จะอยู่ที่ประมาณ 80% ต่อจีดีพี แต่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร นอกจากนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพี สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าตอนปี 2540 วิ่งไปถึง 60% แต่ถ้าเทียบกับช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ 40% ถือว่าขึ้นมาค่อนข้างเร็ว ดังนั้น ในแง่เสถียรภาพจึงเป็นอีกตัวที่ไม่ค่อยโอเค

“สิ่งที่สะท้อนว่า เรื่องเสถียรภาพจะชะล่าใจไม่ได้ คือ ตลาดเริ่มมีสัญญาณความกังวล  ถ้าดูเงินไหลออกพบว่าตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้ลบไป 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งออกจากทั้งตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้(บอนด์) สวนทางกับประเทศอื่นด้วย เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย มีเงินไหลเข้า แต่ไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มนี้ที่เห็นเงินไหลออก ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลที่มีอยู่ และตัวเลข 8,400 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับที่ 2 เทียบกับในอดีตหรือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปีหนึ่งเคยเจอลบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ”

นอกจากนี้ยังเห็นความผันผวนเรื่องค่าเงินด้วย ตอนนี้ความผันผวนอยู่ที่ 8-9% เป็นรองแค่เกาหลีใต้ แต่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและคู่เทียบต่างๆ ทั้งยังสูงเมื่อเทียบกับในอดีต แม้ว่าจะไม่ได้สูงสุด เพราะตอนเกิดเรื่อง Silicon Valley Bank (แบงก์สหรัฐล่ม) เคยขึ้นไปสูงสุดไปที่ 12% ซึ่งเป็นตัวที่โชว์เรื่องความกังวลของตลาด รวมถึงตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันการผิดนัดชำระหนี้ หรือ Credit default swap (CDS) เหมือนเป็นการซื้อประกันบนบอนด์ที่ออกไปก็เพิ่มขึ้น ซึ่งปกติคนจะมองว่า CDS สะท้อนว่าประเทศนั้นๆมีความเสี่ยงหรือไม่ ที่ผ่านมาวิ่งจากประมาณ 0.50% มาอยู่ที่ประมาณ 0.70% แม้ว่าจะไม่ได้สูงสุด ในช่วงโควิดที่วิ่งไปเกือบ1.00% แต่ก็โชว์ว่า มีสัญญาณของความกังวล

ตอนนี้เริ่มมีสัญญาณต่างๆ เห็นได้จาก re-action ของตลาด และสถาบันการจัดอันดับเครดิตเขียนค่อนข้างชัด ไม่ว่าจะเป็น บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ ,บริษัทมูดี้ส์อินเวสเตอส์เซอร์วิส และ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) บอกจุดแข็ง คืออะไร เช่น กรอบมหภาคค่อนข้างดี ไม่มีปัญหา เรื่องต่างประเทศโอเค แต่สิ่งที่กังวลหลักๆ และบอกว่า ถ้าจุดนี้เสื่อม ก็จะเป็นโอกาสที่จะปรับเรตติ้งได้ แต่โดยปกติแล้วไม่ปรับเรตติ้งทันที จะปรับแนวโน้ม (Outlook) ก่อน ตอนนี้แต่ละแห่งมองว่ามีเสถียรภาพ แต่ถ้ามีอะไรเสื่อม ก็มีโอกาสที่จะปรับเป็นแนวโน้มลบได้ ตัวที่เป็นจุดที่ทำให้แนวโน้มปรับลดลงหลักๆ คือเรื่องของการคลัง ซึ่งคล้ายๆกับสิ่งที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อยากเห็น คือ ภาพการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง อยากเห็นการขาดดุลการคลังลดลง

“เสถียรภาพเรายังโอเคอยู่ แต่ชะล่าใจไม่ได้ แต่เดิมเป็นมาตลอด จะเห็นว่าประเทศไทยเหมือนเป็น Safe Haven (แหล่งหลบภัยของนักลงทุน)  เงินชอบไหลมา แต่ตอนนี้เราเป็น less of the safe haven คือ ความเป็น Safe Haven ดูเหมือนจะน้อยลง”นายเศรษฐพุฒิกล่าว

สำหรับสถานการณ์โลกตอนนี้ ยอมรับว่าความเสี่ยงค่อนข้างสูงขึ้น ซึ่งในการประชุม IMF และธนาคารโลก ที่มาราเกซ โมร็อกโก ถ้อยคำที่ออกมา คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อนข้างช้าและไม่ค่อยทั่วถึง แต่ที่ชัด คือ IMF มองว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยระยะปานกลางจะอยู่ที่ 3% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 30 ปี จึงดูไม่ได้สวยหรูนัก

ที่สำคัญตอนนี้ยังมีความชัดเจน มีความเสี่ยงต่างๆโผล่ขึ้นมาค่อนข้างมาก ถ้าไปร่วมในเวทีต่างๆ ความเสี่ยงที่คนจะมองและจับตา คงหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจจีนชะลอตัว นอกจากมีประเด็นในเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีความเสี่ยงอื่นๆที่พูดถึงกันมากในที่ประชุมต่างๆ คือ ความเสี่ยงใหม่ๆที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น เรื่องเกี่ยวกับ Supply Chain ต่างๆ และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่แยกจากกัน ซึ่งจะกระทบในเรื่องการค้าโลก

แต่มีตัวหนึ่งที่ค่อนข้างห่วงและเป็นอันใหม่ คือ ปัญหาในตะวันออกกลาง ประเมินผลกระทบและความเสี่ยงได้ยากมากๆ เพราะมีผลข้างเคียงที่คำนึงไม่ถึง คิดไม่ออก และจะมีเยอะด้วย จึงมีการใช้ศัพท์ว่า tail risk คือ ของที่คิดว่าไม่น่าเกิด ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์ 9-11 ประเมินว่า ผลจะกระทบกับเรื่องการท่องเที่ยวในสหรัฐ คนจะไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน และกระทบเรื่องความเชื่อมั่นของการลงทุน แต่ตรงนั้น กลับไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะสุดท้ายแล้ว เหตุการณ์ 9-11 ได้นำไปสู่เรื่องการตอบโต้ของอเมริกา โดยการเข้าไปบุกอิรัก ซึ่งนำไปสู่อะไรต่างๆต่อๆกันมา

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เกรงว่าจะมีผลข้างเคียงที่นึกไม่ออก คิดไม่ถึง บางทีเห็นว่า สิ่งที่นักวิเคราะห์รายงานในสื่อเกี่ยวกับผลกระทบ เช่นจะต้องดูว่าไทยส่งออกอิสราเอลเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวอิสราเอลมาไทยเท่าไหร่ ผมคิดว่าตรงนั้น ไม่ใช่ประเด็นเลย แต่ประเด็น คือ สิ่งที่จะเป็นต่อๆกันมา สิ่งที่จะลาม หรือสิ่งที่จะไปถึงจุดตรงโน้นตรงนี้ต่างหาก ซึ่งเป็นสิ่งตอนนี้คาดไม่ถึง จึงเป็นที่มาว่า ในเวทีโลกต่างๆ จะมีการเน้นเรื่องเสถียรภาพเป็นตัวหลัก เป็น ‘พระเอก’”

ทางด้าน IMF  แนะนำนโยบายของแต่ละประเทศควรทำอะไร มี 4 เรื่อง ได้แก่  1. ต้องเอาเงินเฟ้อกลับเข้ามาสู่กรอบให้ได้ ต้องพยายามทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เป็นอยู่ เพราะถ้าเหตุการณ์ในตะวันออกกลางมีปัญหา ก็จะทำให้เกิด inflation shock ขึ้นอีก ราคาน้ำมันจะผันผวน  สิ่งที่พยายามสู้มา เช่น การดึงเงินเฟ้อลงมา ก็จะกลายเป็นพลิกกลับมาอีก  ซึ่งธปท.ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเฟ้อมาก หากกลับมาจะแก้ไขยาก และส่งผลกระทบมากกว่าเรื่องดอกเบี้ย หน้าที่ของธปท.จะต้องระวังไว้ก่อน

2. ต้องพยายามสร้างกันชน (buffer) ด้านการคลัง คือ ต้อง consolidate จากเดิมที่เคยกระตุ้นการคลังไว้มาก ตอนนี้แนะนำว่า ควรอยู่ในโหมด consolidate หรือพูดง่ายๆ คือ ลดรายจ่าย พยายามหารายได้ต่างๆ ทำให้การขาดดุลน้อยลง ทำให้หนี้สาธารณะลดลง เพื่อเตรียมรับมือ Oil shock ต่างๆที่อาจจะมาในอนาคต

3. ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งสถานการณ์ในต่างประเทศจะแตกต่างจากประเทศไทย เป็นห่วงเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ แบงก์ และนอน-แบงก์ มีบทบาทมากในต่างประเทศ แต่สำหรับไทยแล้ว เรื่องอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง

4. การใส่ใจปัญหาโครงสร้างระยะยาว โดยต้องหาวิธีที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปโครงสร้าง เช่น เรื่องดิจิทัล เรื่อง Green เป็นต้น

ส่วนของประเทศไทย มีการปรับโหมดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่การ ‘ปรับทิศทาง’ ซึ่งยังเป็นตามสิ่งที่วางไว้ แต่จุดสนใจอาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง เช่น จากเดิมที่มองระยะสั้นและการออกจากวิกฤติ ก็จะมองในเรื่องที่เป็นระยะปานกลางมากขึ้น เป็นต้น

ศัพท์ที่ใช้ คือ จะเป็นการมองเรื่อง resiliency (ยืดหยุ่นพร้อมจะเปลี่ยนแปลง) ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทย resilience ซึ่งความหมายกว้างกว่าและมีความยืดหยุ่นมากกว่า เรื่องเสถียรภาพ (stability) คือ รักษาให้ทุกอย่างนิ่งๆ

“ล้มแต่ฟื้นกลับมาได้เร็ว และมีการปรับเปลี่ยน เช่น ถ้านึกถึง ecosystem ของป่าไม้ ไม่ใช่ว่าต้นไม้ทุกต้นต้องอยู่ บางต้นอาจจะฝ่อ เหี่ยว ตายไป แต่จะมีต้นใหม่ขึ้นมา  โดยรวมทั้งหมดคือ resilience มีความยืดหยุ่น มีความทนทานต่อ shock ต่างๆ มีคนใหม่เข้ามา คนเก่าออกไป

สำหรับองค์ประกอบของความเป็น resilience ในมุมของธปท. มีอย่างน้อย 3 อย่าง ได้แก่ 1.เรื่อง macro-financial stability คือ ภาพเศรษฐกิจและภาพการเงิน ต้องมีเสถียรภาพ เช่น เงินเฟ้อไม่ได้สูงเกินไป เศรษฐกิจมีการเติบโตในระดับที่เหมาะสม และเรื่อง financial imbalance (ความไม่สมดุลทางการเงิน) ไม่มีความเปราะบาง ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจ resilience ต้องมีตัวนี้ ถ้าไม่มีตัวนี้ ตัวอื่นๆจะไม่ตามมา

2.การมีภูมิคุ้มกัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการมีกันชน ช่วยทำให้ทนทานต่อ shock ที่จะมา เช่น งบดุลมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นของครัวเรือน ธนาคาร ธุรกิจ และภาครัฐ เพื่อที่ว่าเมื่อเกิด shock ยังรับมือได้ และต้องมีกระสุนเพียงพอ มี ‘policy space’ ถ้าเกิดอะไรขึ้น จะมีเครื่องมือด้านนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยและการคลัง นอกจากนี้เศรษฐกิจมี resiliency และมีภูมิที่ดี จะต้องมีทางเลือก ต้องมีออปชั่นอื่นๆ ยกตัวอย่าง  ถ้าระบบชำระเงินหลักมีปัญหา ต้องมีระบบอีกอันมาช่วยรองรับ ต้องมีถนนหลัก และมีถนนรอง ส่วนเรื่องการค้าขายก็ควรมีทางเลือกอื่นๆ เช่น ถ้าค้าขายก็ไม่อยากให้ใช้เฉพาะดอลลาร์ฯ อยากให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นด้วย เป็นต้น รวมถึงเรื่องการลงทุนด้วย  เพื่อลดความผันผวน

3.ต้องมีโอกาสใหม่ๆ มีการเติบโตที่มาจากโอกาสจากของใหม่ ถ้าเป็นเรื่องเสถียรภาพอย่างเดียว จะไม่มีเรื่องการเติบโต ถ้าไม่โตเลย แล้วจะมี resilience ได้อย่างไร ก็ไม่ยั่งยืน ไปไม่ได้ จึงต้องมีระบบที่เข้ามาช่วยสร้างเรื่องของโอกาสใหม่ ทำให้เติบโตได้จากการเกาะกระแสใหม่ๆ เช่น เรื่องดิจิทัล  เรื่องการปรับเปลี่ยน

“เศรษฐกิจเอื้อให้ resilience แต่จะต้องปรับโฟกัส ให้เศรษฐกิจฟื้นอย่างต่อเนื่อง ปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป สร้างโครงสร้างใหม่ในส่วนดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่าน”

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 ธปท. คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ 4.4% ซึ่งรวมผลจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ไว้แล้ว

แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน หากรัฐบาลมีการปรับรายละเอียดมาตรการ หรือลดขนาดวงเงินที่ใช้ ก็ย่อมจะส่งผลต่อการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าได้ สำหรับในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2.7-2.8% แม้ไตรมาส 3 ยังฟื้นตัว แต่อ่อนกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) จะต่ำกว่าที่คาด แต่การบริโภคเอกชน ยังขยายตัวดี และการส่งออกก็ยังเป็นไปตามคาดการณ์