ประกันชั้นนำคัดหุ้นธุรกิจโลกเก่าทิ้ง เพิ่มหุ้น ESG ร่วมมุ่งสู่ Net Zero

HoonSmart.com>>เอไอเอ เผยธุรกิจประกันภัยชั้นนำ ประกาศความร่วมมือตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มุ่งสู่ Net Zero ยกระดับอีกขั้นสู่ฝากการลงทุน เปลี่ยนผ่านสินทรัพย์ที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม สู่พอร์ตสีเขียวเน้นเก็บหุ้นที่ผ่านการรับรอง ESG จาก SBTi เตือนเตรียมตัวรับมือมาตรฐานบัญชีใหม่ บังคับรายงานข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ข้อมูลการเงินด้านโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 1 ม.ค.2567 นี้เริ่มใช้ในเอเชีย ด้านเอสแอนด์พี โกลบอล ย้ำธุรกิจประกันภัยช่วยลดโลกร้อนได้ เพียงยกเว้นไม่รับประกันทรัพย์สินที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในงาน “Thailand Insurance Symposium 2023” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นายโจฮานน์ ดูท้อยท์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทเอไอเอ ประเทศไทย และ นายดันแคน ลี (Duncan Lee) ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล กลุ่มเอไอเอ ได้กล่าวในหัวข้อ “Continuing the ESG to Sustainability” หรือ แนวทาง ESG การเดินทางสู่ความยั่งยืน โดยการให้ข้อมูลแนวทางการทำ ESG ขององค์กรชั้นนำรวมถึงบริษัทประกันภัยชั้นนำของโลก สรุปได้ว่า บริษัทประกันภัยขนาดใหญ่และสถาบันการเงิน กำลังเปลี่ยนผ่านสินทรัพย์การลงทุนไปสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น เพื่อร่วมลดโลกร้อน

ทั้งนี้ ในการประชุม COP28 (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติปี 2023) ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ที่อาหรับเอมิเรตส์ จะมีหัวข้อเรื่องการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ในหมวดของการลงทุน การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้เป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกนี้ให้ได้ 43% ในปี 2573 ควบคุมอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียลตามความตกลงปารีส ที่บริษัทประกันภัยและสถาบันการเงินต่างๆ กำลังตั้งเป้าหมายที่จะปฏิบัติตามเพิ่มเติมขึ้นมา

ที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยชั้นนำของโลกได้ดำเนินการด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของ SBTi(Science Based Targets initiative) สหพันธ์องค์กรสิ่งแวดล้อมนานาชาติภายใต้โครงการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์

สำหรับ เกณฑ์ SBTi กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไว้ 3 ขอบเขต คือ 1 ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ผลิตพลังงานความร้อนต่างๆ ขอบเขตที 2 ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ผลิตพลังงานไอน้ำ เครื่องทำความร้อนละเครื่องทำความเย็น ต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตหันไปใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น

ขณะที่ สถาบันการเงิน ธุรกิจประกันภัย อยู่ในขอบเขตที่ 3 ซึ่งได้เพิ่มหมวดว่าด้วยการลงทุน ในฐานะเป็นผู้ทำการลงทุนและสนับสนุนทางการเงินให้กับธุรกิจที่อยู่ในขอบเขตที่ 1 และ 2 โดย SBTi จะทำการประเมินนโยบายความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ Net Zero ผ่านสินทรัพย์ที่ลงทุนในพอร์ตว่าจะบรรลุเป้าหมายการลดอุณภูมิของโลกลงให้ได้ 1.5°c หรือต่ำกว่า 2 °c นอกเหนือจากเดิมที่บริษัทประกันภัยต้องดำเนินการด้านปฏิบัติการภายในบริษัทด้วย

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ที่จะถึงนี้ทาง IFRS(มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ) จะมีการประกาศใช้ IFRS S1 (การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งรวมถึง โอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)และ IFRS S2 (การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทด้านโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ) ในญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ จากก่อนหน้านี้ที่บังคับใช้แล้วในยุโรป อเมริกา และอีกหลายประเทศ ซึ่งบริษัทต่างๆ รวมถึงบริษัทประกันภัยจะต้องปฏิบัติตามด้วย โดยในไทยยังไม่มีการบังคับใช้ในปีดังกล่าว

สำหรับ การกำหนดเป้าหมายการลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)ต้องดูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของบริษัทที่จะไปลงทุนว่ามีแนวทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero ที่สามารถตรวจสอบได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ตามเกณฑ์ของ SBTi หรือไม่ ซึ่งดูได้จากการรับรองของ SBTi ที่ใช้อัลกอริทึ่มเข้ามาตรวจสอบและให้คะแนนว่าเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่วางไว้ระยะกลาง และระยะยาว เป็นไปได้ภายใต้ความตกลงปารีส

ทั้งนี้ สมาร์ทนิวส์ ได้รวบรวมการกำหนดเป้าหมายด้าน ESG ของบริษัทประกันภัยชั้นนำที่มีธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย ทั้งในระยะปานกลาง และระยะยาว ครอบคลุมด้านการปฏิบัติการและนโยบายด้านการลงทุน ส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดเป้าหมายบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593 ตามความตกลงปารีส โดยรวบรวมจากรายงานของ เอสแอนด์พี โกลบอล หัวข้อ “Path to net-zero: Get-out clauses undermine insurers’ climate targets” ที่มีถึง 30 บริษัทครอบคลุมบริษัทประกันภัยชั้นนำทั่วโลก และข้อมูลจากกลุ่มเอไอเอ

ในรายงานของเอสแอนด์พี ระบุว่า ธุรกิจประกันภัยยังมีการกำหนดเป้าหมายสู่ Net Zero ช้ากว่าอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง โดยข้อมูล ณ เดือนพ.ค.2565 มีเพียง 43% ของบริษัทประกันภัยทั่วโลกที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero ที่เหลือยังไม่มีการกำหนดเป้าหมาย และเป้าหมายยังไม่ชัดเจน ซึ่งบริษัทประกันภัยสามารถร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ด้วยการยกเว้นไม่รับประกันภัยทรัพย์สินธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ธุรกิจขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เหมืองถ่านหิน และแท่นขุดเจาะ

ขณะที่ ข้อมูลของเอไอเอ ในงาน “Thailand Insurance Symposium 2023” ระบุว่า ทางเอไอเอ ได้ประกาศนโยบายสู่ Net Zero ภายในปี 2593 เมื่อปลายปี 2564 ตามแนวทางของ SBT ทั้งฝั่งปฏิบัติการและฝั่งการลงทุน โดยจะทำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสิ้นเชิงสำหรับการปฏิบัติงาน และด้านการลงทุนจะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีนโยบาย ESG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำหนดชัดเจน และได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก SBTi เมื่อต้นปีนี้ นั่นหมายความว่าเป้าหมายที่กำหนดขึ้นมานั่นมีความเป็นไปได้

จากการที่ บริษัทต่างๆ รวมถึงบริษัทประกันภัย จะต้องมุ่งสู่ Net Zero ทาง IFRS จึงเพิ่มมาตรฐานการรายงานบัญชีที่ต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ESG (IFRS S1) ข้อมูลด้านโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IFRS S2) เพื่อให้นักลงทุนที่มีนโยบาย Net Zero ได้มีข้อมูลไว้ใช้สำหรับการตัดสินใจ ซึ่งมีการบังคับใช้แล้วในสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม IFR S1 ยังไม่บังคับใช้สำหรับประเทศไทย แต่จะถูกบังคับใช้ใน ญี่ปุ่นฮ่องกง และสิงคโปร์ ในวันที่ 1 ม.ค.2567 นี้ ซึ่งไทยสามารถนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ล่วงหน้าได้ก่อนที่จะมีการบังคับใช้จริง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับบริษัท

สำหรับ การลงทุนตามแนวทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน (ESG) จำเป็นที่ผู้บริหารด้านการลงทุนต้องเข้าใจเรื่อง ESG อย่างถ่องแท้ ซึ่งปัจจุบันมี CFA ด้าน ESG โดยเฉพาะ เพื่อจะได้ประเมินความเสี่ยงและโอกาสของสินทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุนและจัดกลุ่มพอร์ตลงทุนออกมาให้เหมาะสมกับความเสี่ยงนั่นๆ เช่น พอร์ตลงทุนสีเขียวลงทุนในบริษัทที่ได้รับการรับรองว่ามี ESG พอร์ตลงทุนสีเหลืองคือการลงทุนในบริษัทที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ ESG และพอร์ตลงทุนสีแดง โดยพยายามที่จะเพิ่มพอร์ตลงทุนสีเขียวให้มากขึ้นในอนาคต

ขณะที่ AIA โดยหลักๆ จะมีการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมากที่สุด ส่วนใหญ่คือหุ้นใน SET 100 และมีการแยกชัดออกมาว่าในจำนวนนี้มีกี่บริษัทที่ได้ประกาศพันธสัญญาสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งปัจจุบันมี 13 บริษัทแล้ว และพยายามที่จะเพิ่มพอร์ตการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยร่วมมือกับบริษัทเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุนให้มีการใส่เรื่อง ESG ไว้ในนโยบายของบริษัท และค่อยๆ เปลี่ยนผ่านองค์กร ถึงจะเป็นเรื่องที่ยากในการไปถึง Net Zero แต่อย่างน้อยบริษัทก็มีความตั้งใจที่จะทำ

นอกจากนี้ สำนักงานให้เช่าของเอไอเอ รวมถึงอาคารที่ทางเอไอเอเข้าไปลงทุน ยังอยู่ภายใต้การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประหยัดพลังงานได้มากที่สุด ตามมาตรฐาน ESG ทำให้ผู้เช่าเข้ามาใช้บริการด้วยเหตุผลหลักที่ว่า อาคารได้มาตรฐานตามหลัก ESG