THG แฉพบหนี้สงสัยเพิ่ม 63 ลบ. ตั้งสำรองแล้ว 172 ลบ.Q3-มีเงินลุยธุรกิจ

HoonSmart.com>>”ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” (THG) ยอมรับตรวจพบรายการหนี้สงสัยเพิ่มเติม 63 ล้านบาทปี’66 หลังพบปล่อยหนี้สงสัย 105 ล้านบาท บริษัทกลุ่มวนาสินรับสภาพหนี้แล้ว 113 ล้านบาท เผยไตรมาส 3/67 ตั้งสำรอง 172 ล้านบาท จะแจ้งก.ล.ต.เอาผิด ฟ้องผู้บริหาร-พนักงานให้ชดใช้ค่าเสียหาย  ยันไม่กระทบสภาพคล่อง ปัจจุบันมีหุ้นกู้ 2 ชุด ครบปี 70,72  ปฎิเสธความสัมพันธ์กับ ธนบุรี โฮลดิ้ง-บริษัท โรงพยาบาล ธนบุรี โฮลดิ้ง 

บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงความคืบหน้าของรายการอันควรสงสัยตามที่ได้แจ้งไว้เดิม มูลค่ารวมประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) และการตรวจพบรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมว่า บริษัทราชธานีพัฒนาการ (2014) หรือ RTD (กลุ่มครอบครัววนาสินถือหุ้น 40.80%) ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากรายการอันควรสงสัย ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับบริษัทฯ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 112,798,907 บาท (รวมดอกเบี้ย ซึ่งคำนวณจนถึงวันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้)

บริษัทฯ จะใช้หนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องให้ RTD ชำระเงิน ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับ RTD ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และกับอดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการทำรายการอันควรสงสัย ทั้งนี้ เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังพบรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ซึ่งรายการดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2566 รายการอันควรสงสัยส่งผลให้เกิดความเสียหายทางการเงินแก่บริษัทฯ และบริษัทย่อย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 63 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี มูลค่าความเสียหายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือความสามารถในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยสำคัญในช่วงปี 2566 – 2567 ที่ผ่านมาอย่างรอบคอบ และมีความเห็นว่านอกเหนือจากรายการอันควรสงสัยดังกล่าวแล้ว ไม่มีรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ ของบริษัทฯ และบริษัทย่อยที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย หรือพิจารณา

เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น บริษัทฯ จะดำเนินการแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และดำเนินการทางกฎหมายต่ออดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดรายการอันควรสงสัยดังกล่าว เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯและผู้ถือหุ้น

ความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ และบริษัทย่อยจากรายการอันควรสงสัยทั้งหมดนั้น บริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีโดยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนในงบการเงินรวม สำหรับไตรมาสที่ 3/2567 แล้ว เป็นรวมทั้งสิ้นประมาณ 172 ล้านบาท เพื่อให้งบการเงินรวมสะท้อนถึงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

สำหรับมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติม
ความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ และบริษัทย่อยจากรายการอันควรสงสัยทั้งหมดนั้น มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ในอดีตทั้งสิ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดรัดกุมในการอนุมัติรายการ รวมถึงรายการที่เกี่ยวโยงกัน และเพิ่มการตรวจสอบภายในให้ครอบคลุมมากขึ้น และให้มีการรายงานจากบริษัทย่อยอย่างสม่าเสมอ เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และป้องกันไม่ให้เกิดรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุดต่ออดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับรายการดังกล่าว เพื่อแสดงถึงจุดยืนที่ชัดเจนของบริษัทฯ ในการไม่ยอมรับพฤติกรรมหรือการปฏิบัติใด ๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และ/หรือระเบียบภายในที่บริษัทฯ กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อย ทั้งนี้บริษัทฯ ยังจะดำเนินการทางกฎหมายกับอดีตผู้บริหารและพนักงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทฯ และบริษัทย่อยที่เกี่ยวข้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทฯและผู้ถือหุ้น

สภาพคล่องของบริษัทฯยังดี
รายการอันควรสงสัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ แต่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียต่อกลุ่มบริษัทฯ อย่างไรก็ตามผลประกอบการจากการดำเนินงานตามปกติ (ไม่รวมการบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักความระมัดระวังและสอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป) กลุ่มบริษัทฯ ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามปกติ และไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานตามปกติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และเพื่อแก้ไขข้อกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้มีการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินที่กำลังพิจารณารวมถึง การพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เพื่อเสริมสร้างฐานะทางการเงินและรองรับการดำเนินงานในอนาคต และการพิจารณาจัดการหรือจำหน่ายสินทรัพย์บางประเภทที่ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ

ไม่เกี่ยวข้องกับธนบุรี โฮลดิ้ง-โรงพยาบาล ธนบุรี โฮลดิ้ง 

สำหรับความเกี่ยวพันระหว่างบริษัท ธนบุรี โฮลดิ้ง   และบริษัท โรงพยาบาล ธนบุรี โฮลดิ้ง   บริษัทฯไม่เคยลงทุน และไม่เคยถือหุ้น แต่อย่างใด บริษัทฯ ไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนรู้เห็นใด ๆ ในการดำเนินการหรือการออกหลักทรัพย์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ปัจจุบันหุ้นกู้ที่ออกโดยกลุ่มบริษัทฯ มีเพียง 2 ชุด ได้แก่
– หุ้นกู้ ชุดที่ 1 (ครั้งที่ 1/2567) บริษัทฯเป็นผู้ออก ประเภทหุ้นกู้แบบมีผู้ค้ำประกัน วงเงิน 700 ล้านบาท วันที่ออก 27 พ.ค. 2567 และวันครบกำหนด 28 พ.ค. 2570
– หุ้นกู้ ชุดที่ 2 (ครั้งที่ 1/2567) บริษัทฯเป็นผู้ออก ประเภทหุ้นกู้แบบมีผู้ค้ำประกัน วงเงิน 1,000 ล้านบาท วันที่ออก 27 พ.ค. 2567 และวันครบกำหนด 28 พ.ค.2572

ส่วนเงินลงทุนของบริษัทฯ ในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมต่าง ๆ ได้รับการเปิดเผยไว้ในงบการเงินและรายงานประจำปีของบริษัทฯ มาโดยตลอด โดยในข้อมูลดังกล่าวไม่เคยปรากฏชื่อบริษัท ธนบุรี โฮลดิ้ง และบริษัท โรงพยาบาล ธนบุรี โฮลดิ้ง แต่อย่างใด

 
 
———————————————————————————————————————————————————–