CIMBT กำไร Q3/66 เหลือ 367 ลบ. ลดลง 47% สำรองเพิ่ม

HoonSmart.com>> “ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย” (CIMBT) เปิดกำไรไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 367 ล้านบาท ลดลง 47% ฉุดงวด 9 เดือนกำไรเหลือ 1,736 ล้านบาท ลดลง 38% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง ค่าใช้จ่ายสูง สำรองเพิ่มขึ้นเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 367.42 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.01 บาท ลดลง 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 695.97 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.02 บาท

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2566 กำไรสุทธิ 1,736.30 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.05 บาท ลดลง 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 2,811.48 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.08 บาท

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารในช่วง 9 เดือนแรกมีรายได้จากการดำเนินงาน 10,322 ล้านบาท ลดลง 387.4 ล้านบาท หรือ -3.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 18.6% และรายได้อื่น 18.1% สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 3.9% กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 18.8% เป็นจำนวน 4,071.3 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานลดลงและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.7%

กำไรสุทธิลดลงจำนวน 1,075.2 ล้านบาท หรือ -38.2% เป็นจำนวน 1,786.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงาน ประกอบกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 26.5% โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ เมื่อเทียบงวด 9 เดือนปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 274.7 ล้านบาท หรือ 3.9% เป็นผลมาจากการขยายตัวขิงสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนสุทธิกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 213.1 ล้านบาท หรือ -18.6% มาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย รายได้อื่นลดลง 449 ล้านบาท หรือ -18.1% ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด่วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 554.4 ล้านบาท หรือ 9.7% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าภาษีอากร ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 60.6% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 53/2%

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) สำหรับงวด 9 เดือนปี 2566 อยู่ที่ 2.6% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.7% เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น

ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินฝห้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 249.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 298.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จากสิ้นปี 2565 มีจำนวน 289.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 83.6% จาก 81.2% ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.2% ลดลงเมื่อเทียบ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 อยู่ที่ 3.3% เป็นผลจากการที่กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 อยู่ที่ 111.3% ลดลงจากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 114.6% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 58.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 20.9% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15.5%