สมาคมบลจ.เผยศาลนัดสืบพยานคดีฟ้อง STARK นัดแรกม.ค.68

HoonSmart.com>> สมาคมบลจ.เผยความคืบหน้าคดีฟ้องอาญาผู้บริหาร STARK ศาลนัดสืบพยานนัดแรกเดือนม.ค.68 พร้อมร่วม FETCO หารือก.ล.ต.ประเด็นความไม่โปร่งใสของบริษัทและผู้บริหาร วางมาตรการเข้มข้นมากขึ้น

ชวินดา หาญรัตนกูล

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยถึงความคืบหน้าดำเนินการเอาผิดผู้บริหารบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ว่า หลังจากสมาคมบลจ.ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีฟ้อง STARK คดีอาญากรณีให้ข้อมูลเท็จในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งสร้างความเสียหายรวม 3,360 ล้านบาท จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่ร่วมลงทุนทั้งหมด 7 บริษัท โดยศาลอาญานัดสืบพยานรวม 300 ปาก เริ่มนัดแรกเดือนม.ค.2568 นี้ คาดว่าจะใช้เวลานานมาก ส่วนจะไปถึงการฟ้องแพ่งหรือไหม ต้องรอดูผลจากคดีอาญาก่อน

อย่างไรก็ตามจากกรณีที่เกิดขึ้น ทางสมาคมบลจ.ไม่นิ่งนอนใจ พร้อมเพิ่มความเข้มงวดในการลงทุน ทั้งการลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG และหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นที่เป็น ESG
นอกจากดูรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีแล้ว จะมีการตรวจสอบประวัติของผู้บริหารแบบเชิงลึก รวมถึงกรรมการบริหารเพื่อสะท้อนมุมมองการเติบโตของบริษัทนั้นๆในอนาคต

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวอีกว่า ในการประชุมประจำเดือนธ.ค.2567 ร่วมกับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นั้น ทางสมาคม.บลจจะเข้าร่วมกับธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) หยิบประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสของบริษัทและผู้บริหาร ในการหามาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ไม่อยากให้ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมาจางหายไป เพราะจะทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจต่อตลาดหุ้นไทย

นอกจากนี้จะนำเรื่องกองทุนรวมออมระยะยาว (SSF) ที่จะครบอายุในปี 2567 นี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการขอต่ออายุกองทุนก่อนเข้าหารือกับกระทรวงหารคลังในช่วงเดือนหน้า

“กองทุน SSF ค่อยๆ เติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้นคู่คี่ไปกับกองทุน ThaiESG สะท้อนนักลงทุนก็สนใจเพื่อกระจายการลงทุนทั่วโลก แต่กองทุน ThaiESG ลงทุนหุ้นไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก ซึ่งสิ่งที่เห็นคือกองทุน SSF มีนักลงทุนรุ่นใหม่ที่พร้อมลงทุน 8 ปี อายุของคนที่ลงทุนประมาณ 30-40 ปี ซึ่งเป็นคนละมิติของการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเป็นคนละมิติของกองทุน ThaiESG เป็นการบาลานซ์พอร์ตของนักลงทุนและเป็นการเรียนรู้ของนักลงทุน”นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าว

ส่วนกรณีหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหรือขยายเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปนั้น ตั้งแต่เกิดเคสไตรมาส 2/67 ไม่ค่อยเห็นกองทุนลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่หุ้นกู้ที่ขยายเวลาไถ่ถอนจะเป็นหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง ซึ่งกองทุนไม่ค่อยได้ลงทุนหรือหากมีก็น้อยมาก อาจเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุน ขณะเดียวกันบลจ.มีกระบวนการกลั่นกรองชัดเจน ขอให้มั่นใจในการลงทุนไม่ได้กระจุกตัวในตราสารหนี้

———————————————————————————————————————————————————–