HoonSmart.com>> ธุรกิจ “กองทุนรวม” เดินหน้าทำ All time high พบ 10 เดือนแรกปี 67 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิพุ่งแตะ 5.82 ล้านล้านบาท เติบโต 13.23% จากสิ้นปีก่อน ขยับขึ้นแรงจากสิ้นเดือนก.ย. ได้อานิสงส์ “ตลาดหุ้นทั่วโลก” ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหนุนมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น กองทุน FIF เติบโต 3 แสนล้านบาท ด้านรัฐส่ง “กองทุนวายุภักษ์” ขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท เติมเงินเข้าอุตสาหกรรม ด้าน “นายกสมาคม AIMC” ประเมิน 2 เดือนสุดท้ายยังเติบโตต่อเนื่อง เงินเข้ากองทุนประหยัดภาษีช่วงท้ายปีหนุน สัปดาห์หน้าเตรียมเปิดตัวแคมเปญ Thai ESG ลงทุนยั่งยืน พร้อมคืนภาษี “โฉมใหม่ ดีต่อใจ ได้สองต่อ”
“HoonSmart” สำรวจการเติบโตของอุตสาหกรรม “กองทุนรวม”ในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2567 (สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) เติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 5,825,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 680,559 ล้านบาท หรือ 13.23% จากสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 5,145,077 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมาจำนวน 207,513 ล้านบาท หรือ 3.69% จาก 5,6184,482 ล้านบาท ทั้งนี้ นับเป็นการเติบโตทำนิวไฮต่อเนื่อง 3 เดือนติด (ส.ค.-ต.ค.) จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้งหมด 23 แห่ง ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)
กองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในอุตสาหกรรม มูลค่า AUM อยู่ที่ 2,745,821 ล้านบาท มีสัดส่วน 47.13% เมื่อเทียบกองทุนรวมทั้งระบบ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 383,566 ล้านบาท หรือ 16.24% จากสิ้นปีที่ผ่านมามีมูลค่า 2,362,254 ล้านบาท
กองทุนตราสารทุน ขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง สัดส่วน 31.53% เมื่อเทียบทั้งระบบ มี AUM อยู่ที่ 1,836,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 242,390 ล้านบาท หรือ 15.20% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,594,259 ล้านบาท
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 354,166 ล้านบาท ลดลง 14,241 ล้านบาท หรือ -3.87% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 368,407 ล้านบาท
กองทุนรวมผสม NAV อยู่ที่ 355,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,810 ล้านบาท หรือ 6.53% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 333,860 ล้านบาท
ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) AUM อยู่ที่ 258,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,612 ล้านบาท หรือ 11.46% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 232,299 ล้านบาท
หากแยกรายประเภทกองทุนในช่วง 10 เดือนแรก กองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) เติบโตต่อเนื่อง AUM อยู่ที่ 1,346,442 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 300,291 ล้านบาท หรือ 28.70% จากสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,046,151 ล้านบาท และเติบโต 34,070 ล้านบาท จากสิ้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
ด้านกลุ่มกองทุนลดหย่อนภาษี กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มี AUM ขยับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 448,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27,037 ล้านบาท หรือ 6.42% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 421,047 ล้านบาท โดยมีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 364 กองทุน เพิ่มขึ้น 24 กองทุนจากสิ้นปีที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน AUM อยู่ที่ 65,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,090 ล้านบาท หรือ 20.26% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และมีจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้น 27 กองทุน รวมเป็น 361 กองทุน
กองทุน ThaiESG เติบโตโดดเด่น AUM เพิ่มขึ้นแตะ 11,564 ล้านบาท เติบโต 6,297 ล้านบาท หรือ 119.56% จากสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 5,267 ล้านบาท
ขณะที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สิ้นสุดโครงการและหมดสิทธิ์ประโยชน์ภาษีไปแล้ว AUM อยู่ที่ 241,424 ล้านบาท ลดลง 23,974 ล้านบาท หรือ -9.03% จากสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 265,398 ล้านบาท
สำหรับกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม AUM อยู่ที่ 496,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 154,750 ล้านบาท หรือ 45.27% และเพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย.ที่ผ่านมาจำนวน 148,434 ล้านบาท หรือ 42.63%
ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารสูงสุด จากจำนวน 23 บลจ. ได้แก่
อันดับ 1 บลจ.กสิกรไทย มูลค่า 1,274,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127,765 ล้านบาท หรือ 11.14% จากสิ้นปีที่ผ่านมา
อันดับ 2 บลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 1,059,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104,044 ล้านบาท หรือ 10.89%
อันดับ 3 บลจ.บัวหลวง มูลค่า 764,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,377 ล้านบาท หรือ 3.16%
อันดับ 4 บลจ.กรุงไทย มูลค่า 731,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142,229 ล้านบาท หรือ 24.16%
อันดับ 5 บลจ.กรุงศรี มูลค่า 468,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51,573 ล้านบาท หรือ 12.38%
ภาพรวม บลจ.ส่วนใหญ่ 19 แห่งมี AUM เพิ่มขึ้น มีเพียง 4 บลจ. AUM ลดลง ได้แก่ บลจ.แอสเซท พลัส,บลจ.ฟิลลิป ,บลจ.ดาโอ และบลจ.เคดับบลิวไอ
ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในปี 2567 ถึงวันที่ 28 ต.ค.2567 ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น หนุนมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นของกองทุนรวมเติบโต โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี NASDAQ พุ่ง 23.36% ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 21.77% และดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 11.74% ขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็งเพิ่มขึ้น 20.78% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนีนิกเกอิ เพิ่มขึ้น 13.04% ตลาดหุ้นเวียดนาม ดัชนี VN เพิ่มขึ้น 10.87% ตลาดหุ้นอินเดีย ดัชนี SENSEX เพิ่มขึ้น 9.91% ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX 600 เพิ่มขึ้น 8.31% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 3.36%
ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือก อย่างทองคำ Comex พุ่งขึ้นโดดเด่น 32.30% ส่วน Global REIT เพิ่มขึ้น 5.89% (ข้อมูลจากบลจ.ยูโอบีและบลูมเบิร์ก ณ 28 ต.ค.2567)
ด้านนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) ในฐานะนายกสมาคม AIMC เปิดเผยว่า ตลาดกองทุนรวมเติบโตได้ค่อนข้างดีในปีนี้หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นหนุนมูลค่าเงินลงทุนของกองทุนรวมเพิ่มขึ้น หลังจากความชัดเจนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะเดียวกันตราสารหนี้ยังมีเงินไหลเข้าลงทุน นอกจากนี้มีโมเมนตั้มที่ดีจากการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ เสนอขายประชาชนทั่วไป ส่งผลให้ตลาดมีเม็ดเงินใหม่เข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
“แนวโน้มน่าจะเงินไหลเข้าลงทุนในกองทุนรวมประหยัดภาษีในช่วงโค้งสุดท้ายของปีเช่นเดียวกับปีก่อนๆ ซึ่งช่วยให้มูลค่าทรัพย์สินกองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นได้ต่อ”นายกสมาคม AIMC กล่าว
ด้านสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เตรียม “แถลงความพร้อมของอุตสาหกรรมและเปิดตัวกองทุน ThaiESG ปี 2567” ในวันที่ 19 พ.ย.2567 พร้อมเปิดตัวแคมเปญ Thai ESG ลงทุนยั่งยืน พร้อมคืนภาษี “โฉมใหม่ ดีต่อใจ ได้สองต่อ” หลังรัฐปรับเงื่อนไขการลงทุน ถือครองลดลงเหลือ 5 ปี และลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บาท