ตลาดหลักทรัพย์เร่งยกระดับเรียกเชื่อมั่น ตลาดบอนด์จ่อเสนอก.ล.ต.เข้ม’ไฮยิลด์’

HoonSmart.com>>STARK คดีประวัติศาสตร์ ทำลายล้างตลาดการเงินไทยรุนแรง “ภากร” ผู้จัดการตลท. รับลูกนายกฯ ยกระดับการจัดการเรียกความเชื่อมั่น ส่วนตลาดบอนด์ ขายไม่ได้ เจอดอกเบี้ยสูง ธุรกิจดิ้นหาแหล่งเงินทุนอื่น  สมาคมฯ เล็งยกระดับตลาด-ปกป้องนักลงทุน คุยตลาดแบ่งปันข้อมูลการเงินบจ.ใช้ทั้งสองตลาด -ปี 67เตรียมเสนอก.ล.ต. คุมคุณภาพผู้ออก พุ่งเป้าไฮยิลด์ที่เร่งก่อหนี้รุงรัง สั่งตุนกระแสเงินสดพร้อมจ่ายต้น-ดอกเบี้ย เผย Q4 มีครบอายุ 156,750 ล้านบาท จับตา High Yield  22,830 ล้านบาท เผยหุ้นกู้มีปัญหา 39,765 ล้านบาทไม่รวมฟื้นฟู คาดทั้งปีออกหุ้นกู้ 1 ล้านล้านบาท 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีการพูดคุยถึงแผนการพัฒนาตลาดทุนไทย ประกอบด้วย การปรับปรุงกระบวนการทำงาน การให้ข้อมูล ยกระดับการจัดการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาได้มากขึ้น แต่จะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการระดมทุนของภาคธุรกิจ

ส่วนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบจ.ที่สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืน หรือการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ New S-curve ซึ่งจะต้องออกไปชักชวนนักลงทุนให้กลับเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้งหาวิธีการที่จะทำให้นักลงทุนรายย่อย สามารถใช้ตลาดทุนไทยในการเป็นเครื่องมือระดมทุนในตลาดไทยได้ และผลักดันตลาดทุนไทยไปสู่ระดับภูมิภาค

สำหรับประเด็นการขยายเวลาซื้อขายหุ้นไทย เป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ศึกษามาตลอด เพียงแต่ในอดีตยังไม่เห็นประโยชน์มากนัก ปัจจุบันนำกลับมาพิจารณาศึกษาอีกครั้ง ซึ่งจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทยทั้งหมด

“ตลาดหลักทรัพย์ไม่มีข้อจำกัดในการขยายเวลาซื้อขาย เนื่องจากระบบสามารถเปิดซื้อขายได้ตลอดเวลา ผู้เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์อย่างไร จากช่วงเช้าจะมีแรงซื้อขายจากนักลงทุนในเอเชีย ช่วงกลางวันจะเป็นนักลงทุนเอเชียและยุโรป  ช่วงเย็นจะเป็นนักลงทุนจากยุโรป”นายภากรกล่าว

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)  เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาวะตลาดตราสารหนี้ยังไม่ปกติ บางบริษัทขายหุ้นกู้ไม่ได้เลย บางแห่งขายได้น้อยกว่าที่ต้องการ จะต้องไปหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ  นอกจากนี้ไตรมาสที่ 3 อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของรัฐบาลสหรัฐและไทยเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ผู้ออกอายุ 5 ปี ทุกเรทติ้งมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จึงเห็นบางบริษัทเลือกออกอายุสั้น 1 ปีแทน เพราะไม่ต้องการแบกต้นทุนสูงๆนาน ทั้งนี้บอนด์ยิลด์ 2 ปีจากสิ้นปี 2565 อยู่ที่  4.41%  ปีนี้เดือนก.ค.อยู่ที่ 4.87% 29 ก.ย.เพิ่มเป็น 5.03%   ส่วน 10 ปีเพิ่มขึ้นมากกว่า แม้ว่าตลาดจะมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆอยู่ในช่วงสุดท้ายก็ตาม แต่จะยืนสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนในไตรมาส 4/2566 มีหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดทั้งสิ้น 156,750 ล้านบาท ส่วนใหญ่หรือ 85% เป็นกลุ่มระดับลงทุนได้ ไม่น่าห่วงต่ออายุได้ ส่วนของไฮยิลด์บอนด์มีจำนวน 35 บริษัท รวมมูลค่า 22,830 ล้านบาท หลายบริษัทต้องจับตามอง อาจจะยกเลิกการขาย  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากความเชื่อมั่นกรณีผิดนัดชำระหุ้นกู้ของหลายบริษัท เชื่อว่าจะไม่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระอีก  เพราะมีการวางแผนแหล่งเงินสำรองไว้แล้ว

อย่างไรก็ตามมูลค่าคงค้างหุ้นกู้มีปัญหา ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2566 อยู่ที่ 39,765 ล้านบาท ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ เช่น บริษัทการบินไทย ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลเนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% จากหู้นกู้ทั้งหมด

สำหรับหุ้นกู้ที่มีปัญหามานาน  ถึงแม้ตอนนี้เข้าสู่ภาวะล้มละลายแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้ยังไม่ได้รับการแบ่งชำระเงินแต่อย่างใด  ดังนั้นสมาคมฯจะต้องยกระดับตลาด และปกป้องนักลงทุน ซึ่งบริษัทที่ออกหุ้นกู้เป็นบจ.ประมาณ 80% ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต.ยกระดับการกำกับดูแล คุณสมบัติของบจ.ที่จะเข้ามาใหม่  ต้องมีการมอนิเตอร์  ขายออก โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ จะต้องทำอย่างไรให้รักษาคุณภาพของบริษัท มี 2 มาตรการ คือการเอาข้อมูลทางการเงินที่จำเป็น ในการติดตามสถานการณ์ แสดงถึงความสามารถในการทำกำไร ในเรื่องกระแสเงินสด จะต้องเปิดเผยให้เห็น  เช่นการขึ้นเครื่องหมาย C เตือน ให้นักลงทุนได้รับข้อมูลในตลาดตราสารหนี้  ก็จะเห็นความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้นักลงทุนทั้งสองกลุ่มตัดสินใจการลงทุนที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อปกป้องนักลงทุน ในปี 2567 สมาคมเตรียมเสนอก.ล.ต. มีการจัดการ หรือวางแนวทาง เงื่อนไขในการออกหุ้นกู้ ไฮยิลด์  เช่นการกำหนดอัตราส่วนทางการเงิน  และจะต้องรักษาต่อไประยะยาว ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว  ลงทุนเกินกำลัง เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนตลาด เป็นกลไกลปกป้องนักลงทุน เหมือนต่างประเทศ  ทั้งนี้มาตรการนี้จะไม่ปิดกั้นการออกตราสารหนี้ และไม่กระทบต่อบจ.ที่ออกหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งสูง ๆ

“ตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต.ยกระดับการเข้ามาตลาดหุ้นแล้ว หลายบริษัทเมื่อเข้าถึงตลาดทุนก็เร่งเพิ่มหนี้สินค่อนข้างเร็ว จนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ จะทำอย่างไรให้มั่นใจว่า จะมีรายได้ มีกระแสเงินสดพร้อมชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้  การกู้เงินที่เยอะเกินไป สุดท้ายก็กลับมาทำร้ายตัวเอง บางครั้งไม่ได้ตรียมการในเรื่องสภาพคล่อง หากทางการร่วมมือกัน จะช่วยให้บริษัทมีความระมัดระวัง ในการก่อหนี้ ช่วยปปกป้องนักลงทุน”

สำหรับเป้าหมายในปี 2566  คาดการออกหุ้นกู้ระยะยาวมีโอกาสแตะที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท สูงกว่ายอดการออกเฉลี่ยในช่วง 7 ปี (ปี 2559-2565) ที่ 9.5 แสนล้านบาท แต่ต่ำกว่า ปี 2565 ที่มียอดการออกหุ้นกู้ที่ 1,271,641 ล้านบาท  All Time High  โดยในช่วง 9 เดือนปีนี้ มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวไปแล้ว 824,557 ล้านบาท

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้นมาตลอด  ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นมากจนบริษัทเอกชนที่เปราะบางบางรายเกิดปัญหาในการชำระหนี้คืน  โดยรวมช่วง 9 เดือนปีนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวได้ 5.8% จากสิ้นปีก่อน หรือมีมูลค่าเท่ากับ 16.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 96% ของ GDP โดยเพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ มียอดขายสุทธิติดต่อกันอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส ทำให้มียอดการขายสุทธิสะสม 1.5 แสนล้านบาท  ณ สิ้นไตรมาส 3/66 มียอดถือครองรวมที่ 9.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.6% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย มีอายุคงเหลือเฉลี่ยที่ 8.3 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.0 ปี เมื่อ ณ สิ้นปี 2565

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในช่วงไตรมาส 3 สูงขึ้นทุกช่วงอายุตามบอนด์ยิลด์ระยะสั้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 5 ครั้งในปี 2566 และการประกาศแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ที่เพิ่มขึ้น 0.16 ล้านล้านบาท จากปีงบประมาณที่ผ่านมา ส่งผลให้เร่งตัวขึ้นในเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3  รุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.90% จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.54% ส่วน 10 ปี สูงขึ้น 0.54% มาอยู่ที่ 3.18% ส่วนบอนด์ยิลด์เอกชนอายุ 5 ปีทุกเรทติ้งเพิ่มขึ้น 0.64-0.87% ใกล้เคียงกับของพันธบัตรรัฐบาล

ส่วนการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาด ที่ส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่บอนด์ยิลด์รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี คาดว่าปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 0.10-0.15%จาก ณ สิ้นไตรมาส 3 ขึ้นไปที่ 2.94% สำหรับรุ่นอายุ 5 ปี และขึ้นไปที่ 3.29% สำหรับรุ่นอายุ 10 ปี  ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และอุปสงค์-อุปทานของตลาดตราสารหนี้ไทย