“กสิกรไทย”เบรคสินเชื่อรายย่อย ปรับเครดิตสกอริ่งก่อนลุยใหม่

HoonSmart.com>>กสิกรไทย (KBANK) เบรคสินเชื่อรายย่อย ขอเวลาศึกษาแบบเจาะลึกเอ็นพีแอล หนี้ดี ปรับเครดิตสกอริ่ง ปรับกระบวนการทำงาน ก่อนเดินหน้าอีกรอบ ลดความเสี่ยงหนี้เสีย

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการหยุดทบทวนสินเชื่อรายย่อย ที่มีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ แต่ได้ขนาดเพียงพอในการที่จะศึกษารายละเอียดเพื่อเดินหน้าใหม่ โดยจะทำการศึกษาหนี้เสีย หรือ NPL และหนี้ดี เพื่อทำการปรับเครดิตสกอริ่งใหม่ แล้วปรับกระบวนการทำงานใหม่ หลังจากนั้นจึงจะทำการขยายธุรกิจดังกล่าวอีกรอบ

“พอร์ตสินเชื่อรายย่อยเรายังไม่เยอะเมื่อเทียบกับแบงก์อื่น เพราะเรากำลังสร้างอยู่ แต่ก็ได้พอร์ตได้ขนาดแล้ว เราจึงหยุดเรียนรู้ ก็จะเอาเอ็นพีแอลและไม่เอ็นพีแอลมาดูและเอามาปรับเครดิตสกอร์ริ่งใหม่ และปรับกระบวนการทำงานใหม่แล้วค่อยทำใหม่”น.ส.ขัตติยา กล่าว

น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ทำให้ธนาคารมีการติดตามหรือมอนิเตอร์เรื่องของสภาพคล่องอย่างใกล้ชิด และดูสัดส่วนสินเชื่อต่อยอดเงินฝาก(LDR)ซึ่งธนาคารพยายามกระตุ้นให้คนหันมาเปิดบัญชีดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งธนาคารอื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน โดยหลังจากเกิดการระบาดโควิด มีคนมาเปิดบัญชีดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาก แต่ในช่วงหลังๆนี้เริ่มซา ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นคือ อยากเห็นคนที่เปิดบัญชีปกติเปลี่ยนมาเปิดบัญชีดิจิทัล อย่างไรก็ตามธนาคายังไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะต้องมีสัดส่วนของบัญชีดิจิทัลเท่าไหร่

นอกจากนี้ น.ส.ขัตติยา กล่าวถึง “บทบาทสถาบันการเงินกับอนาคตธุรกิจไทย”ในงาน Thailand Economic Outlook 2004-Change the Future Today ว่า สถาบันการเงินจะต้องทำต้นทุนทางการเงินให้ต่ำเพื่อลดภาระของภาคธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีราคายุติธรรม และสามารถให้บริการอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องการเงินได้ด้วย เพื่อให้ธุรกิจไทยไปต่อได้ โดยธุรกิจขนาดเล็กควรจะมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า 5% ซึ่งธนาคารจะพยายามช่วยลดต้นทุนดังกล่าว ด้วยการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการทางการเงินที่ดี ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบเรื่องการชำระหนี้ตามกำหนด สร้างการรับรู้ด้านการทำธุรกิจแบบยั่งยืน

“เรื่องการให้ความรู้เราทำกันมาตลอด และเห็นว่าถ้าธุรกิจจะไปต่อได้ ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามา ใช้เทคโนโลยีใหม่ พยายามทำธุรกิจภายใต้โมเดลใหม่ๆ ซึ่งจะต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะทำให้ธุรกิจไทยเติบโตและก้าวกระโดดได้ต้องร่วมมือกัน”น.ส.ขัตติยา กล่าว

น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า หากเทียบภาวะเศรษฐกิจไทยกับรถยนต์ ภาครัฐ เปรียบเสมือนจีพีเอส ผู้ขับ ควบคุมพวงมาลัย มีระบบเบรค เช่นการออกกฎระเบียบ ในการเร่ง หรือ ชะลอ ขณะที่ภาคธุรกิจ คือ เครื่องยนต์ต้องทำให้ตัวเองสามารถแข่งขันได้ในเวทีต่างๆ และภาคธนาคาร คือ ตัวจ่ายพลังงาน ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน