‘ไทยเบฟ’ แจกคาถาธุรกิจรอด โตยั่งยืน เท 7 พันลบ.เรียนรู้ AI จีน ตั้งรง.กัมพูชา ลดขนส่ง

HoonSmart.com>>”ฐาปน” เตือนปี 68 เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทุกธุรกิจ ตัดเชือกบริษัทไหนตาย-รอด-โตยั่งยืน “ไทยเบฟฯ” ชี้ทิศทางอนาคต จัดงบลงทุน 7,000 ล้านบาท แบ่งตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่กัมพูชา 4,000 ล้านบาท ปูพรมตลาดอาเซียน หาพันธมิตรเข้าลงทุนในจีน  เรียนรู้เทคโนโลยี AI โลจิสติกส์-บริหารธุรกิจ ลดต้นทุน ยกบริษัทจีนขายสินค้าน้อยกว่า แต่มีมาร์เก็ตแคปมากกว่าไทยเบฟ ล้วงลึกถึงกลุ่มลูกค้าของลูกค้า ผลงาน 9 เดือน อิบิทดา 37,765 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากการลงทุนเพิ่ม รายได้ขาย 215,893 ล้านบาท โต 3.8% การเงินแกร่ง ยันขาย IPO ธุรกิจเบียร์

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการอำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ นำทีมคณะผู้บริหาร แถลง“แผนการดำเนินงานและทิศทางธุรกิจประจำปี 2566” ประกาศแผนลงทุนในงวดปีนี้ (1 ต.ค. 2566- 30 ก.ย.2567) ด้วยงบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 4,000 ล้านบาทจะใช้ตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในกัมพูชา เพื่อเป็นฐานใหม่ในการรุกขยายตลาดกัมพูชา และเป็นฐานการผลิตวิสกี้ Single Malt เพื่อจำหน่ายในอาเซียน รวมถึงต่อยอดไปถึงการรองรับการผลิตเครื่องดื่มในกลุ่มนอน-แอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน เพราะเห็นศักยภาพของการค้าชายแดน การเติบโตในตลาดอาเซียน รวมถึงศึกษาการเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวเพิ่มเติมภายในปี 2567 นอกจากนี้ยังสนใจขยายตลาดตะวันออกกลาง จีน ด้วย

ไทยเบฟประกาศทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น การขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน บริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรในมณฑลกวางโจว ลงทุนโรงงานผลิตเหล้าขาว ทั้งการจำหน่ายในจีนและส่งออก  เข้าไปเรียนรู้การทำธุรกิจเครื่องดื่ม พฤติกรรมลูกค้า และการนำเทคโนโลยีของจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ AI โลจิสติกส์ และการบริหาร  เพื่อให้มีต้นทุนต่ำลง

“การสร้างการเติบโตของกลุ่มไทยเบฟจากนี้จะเน้นไปที่ความร่วมมือกับพันธมิตร โลกธุรกิจตอนนี้ ไม่ใช่มองการซื้อกิจการ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดและกำไรที่สุด   ตอนนี้มาจาก Speed ร่วมมือกันไปได้เร็ว ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธุรกิจเปลี่ยนจากการแข่งขันมาเป็นพันธมิตรแทน ซึ่งบริษัทสหรัฐและญี่ปุ่นมาคุยกับเรา ในการร่วมมือกันพัฒนาตลาดอาเซียน เราต้องเข้าไปเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีของจีน เพื่อทำให้สามารถเติบโตและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนในอนาคต สร้างรากฐานใหม่ๆต่อการเติบโต ซึ่งเห็นตัวอย่างจากบริษัทจีน ที่ขายของได้น้อยกว่าเรา แต่กลับมีมาร์เก็ตแคปสูงกว่า โดยไทยเบฟมีมาร์เก็ตแคป 6.1 พันล้านดอลลาร์ สูงอันดับที่ 9 ของตลาดหุ้นสิงคโปร์” นายฐาปน กล่าว

นอกจากนี้แนวโน้มในอีก 2 ปีข้างหน้า คือปี 2568 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทุกธุรกิจ จะเป็นตัวตัดเชือก รู้ว่าบริษัทอยู่รอด บริษัทไหนอ่อนแอ หรือจะโต จึงจะต้องเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง  ส่วนการตลาด บริษัทจะต้องมองให้ลึกมากขึ้น จากที่ผ่านมาดูแลเพียงลูกค้า แต่ไม่ได้ต้องมองไปถึงกลุ่มลูกค้าของลูกค้า เพื่อต้องการทราบว่าผู้บริโภคมีความต้องการตรงไหนบ้าง และพึงพอใจสินค้าของบริษัทอย่างไร

สำหรับภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มฟื้นตัว  บริษัทมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน  จากผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มไทยเบฟมีรายได้จากการขายที่ 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แม้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 3.4% มาอยู่ที่ 3.77 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลงทุนที่มากขึ้นเพื่อสร้างยอดขาย และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ทางด้านฐานะการเงิน มีความแข็งแกร่ง  มีกระแสเงินสด และสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ) ต่ำ ไม่ถึง 1%

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งรักษาผลกำไรสุทธิและส่วนแบ่งตลาดของบริษัทตามแผนที่วางไว้  และยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยยึดมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

สำหรับการนำธุรกิจเบียร์ (BeerCo) เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ยังคงอยู่ในแผนงาน แม้ว่าจะมีการเลื่อนแผนออกไปบ้าง เนื่องจากสภาวะตลาดทุนยังไม่เอื้อ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับหลายๆ บริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหุ้นที่ตัดสินใจเลื่อนออกไปก่อน โดยบริษัทจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งเมื่อตลาดทุนกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา ของไทยเบฟ กล่าวว่า ธุรกิจสุรายังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและผลกำไรที่มั่นคง คาดธุรกิจจะยังคงดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนแผนการขยายโรงงานผลิตสุราแห่งที่ 2 ในเมียนมา หลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตมาแล้ว ปัจจุบันยังมีความท้าทายจากปัจจัยภายในเมียนมา ทำให้บริษัทยังไม่เร่งลงทุน

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์เติบโตสูงในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง “แรงเยอร์” เติบโตมากกว่า 50% สูงกว่าที่บริษัทคาดไว้ แม้จะไม่ได้มีการทำโฆษณาและเคมเปญการตลาด แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาขายไว้ที่ 10 บาท ส่วนแบรนด์ชาพร้อมดื่ม โออิชิ ยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ได้ต่อเนื่อง และสามารถเติบโตได้อย่างดีราว 15.5%

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคภายในร้านอาหารในประเทศไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีทั้งจากผู้บริโภคชาวไทยและการกลับมาของนักท่องเที่ยว ทำให้ยอดกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 จึงใช้โอกาสนี้ในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจอาหาร ผ่านการขยายสาขาใหม่ และเพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม  ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทยแบ่งเป็น KFC 440 สาขา โออิชิ 278 สาขา และอื่นๆ 53 สาขา ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 สาขา