สมาคมนักวิเคราะห์ เผย Q4 เป้าสูงสุด SET 1,619 เชียร์ 5 หุ้นเด่น

HoonSmart.com>>สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เผยผลสำรวจนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 26 สำนัก พบไตรมาส 4/66 จุดสูงสุดของ SET Index เฉลี่ยที่ 1,619 ต่ำสุด 1,468 เป้าดัชนีฯสิ้นปี 66 ลดลงมาอยู่ที่ 1,606 จากเดิม 1,630 จุด กำไร EPS ปี 66 ลดเหลือ 89.04 บาท จากเดิม 93.21 บาท EPS Growth ปี 66 เฉลี่ยที่ 6.51% ก่อนฟื้นในปี 67 ที่คาดกำไร EPS จะขึ้นไปที่ 99.47 บาท EPS Growth ปี 67 เฉลี่ยที่ 12.03% พร้อมเชียร์ ADVANC, AOT, BDMS, CPALL, TOP

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 26 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 4/66 คาดการณ์จุดสูงสุดของ SET Index ช่วง ต.ค. – ธ.ค. 66 เฉลี่ยที่ระดับ 1,619 จุด ส่วนจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,468 จุด และเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 66 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,606 จุด ซึ่งลดลง 34 จุดจากระดับคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1,630 จุด ด้านคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 66 ของตลาดเฉลี่ยที่ 89.04 บาท ปรับลดจากผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 93.21 บาทต่อหุ้น และครั้งนี้คาดการณ์ EPS Growth ของปี 2566 อยู่ที่ 6.51%

กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2567 ของตลาดคาดการณ์เฉลี่ยจะขึ้นไปที่ 99.47 บาท และคาดว่า EPS Growth ของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 12.03%

ด้านคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในปี 2567 มีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ถึง 77.28% ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2.50% รองลงมามี 9.09% ของผู้ตอบ มองว่าจะลงไปที่ 2.25% แต่มีผู้ตอบ 9.09% เท่ากันมองสวนว่ายังจะขึ้นต่อไปที่ 2.75% และมีผู้ตอบ 4.55% มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ที่ 3%

สมมติฐานหลัก การขยายตัวของ GDP ไทยปี 66 คาดการณ์ที่ 2.85% ลดลงจากเดิมที่ 3.38% (ก.ค.66) ส่วน GDP ปี 67 มองเป็นบวกที่ 3.56% ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปีนี้ ปรับขึ้นจากจาก 80.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาเป็น 83.02 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ด้าน Risk Free Rate ที่ใช้ในการประเมินมูลค่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.93% และRisk Premium ของตลาดหุ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 7.02%

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนจนถึงสิ้นปี 2566 แบ่งเป็นปัจจัยบวก ที่มีผู้โหวตมาเกินกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถาม นำมาโดย ผลประกอบการของบจ.ปี 67 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 100% เต็ม ปัจจัยรองลงมา ผู้ตอบ 81.48% โหวตให้เศรษฐกิจภายในประเทศ (ที่กำลังจะฟื้นตัว) ตามมาด้วยปัจจัยทางการเมืองในประเทศ มีผู้ตอบ 73.08% และ Fund Flows จากต่าง ประเทศสู่ตลาดหุ้นไทย มีผู้ตอบ 57.69%

ส่วนปัจจัยด้านลบ นำมาจาก ปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศมีผู้ตอบ 80% รองลงมาคือเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา มีผู้ตอบ 68% ตามมาด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจของโลก มีผู้ตอบ 64% และทิศทางดอกเบี้ยในประเทศ มีผู้โหวต 60% ตามลำดับ

นักวิเคราะห์แนะนำให้มีการกระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น เงินสดและเงินฝากระยะสั้น 14.80%, กองทุนตราสารหนี้ 21.20%, หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 25.68%, หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 24.12%, ทองคำหรือกองทุนทองคำ 7.7%, กองทุนอสังหาฯหรือ REIT 6.5%

โดยความเห็นต่อการลงทุนหุ้นต่างประเทศและกองทุนหุ้นต่างประเทศนั้น แนะนำให้ลงทุน กองทุนเทคโนโลยี กองทุนรวมกลุ่มประเทศอาเซียนจากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง

สำหรับในการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจ ค้าปลีก พาณิชย์ การแพทย์ และการท่องเที่ยว ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดธุรกิจ Finance (non-bank) ปิโตรเคมี

รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป พร้อมประเด็นหลักสนับสนุน มีดังนี้
1. ADVANC โดยมองว่าแนวโน้มกำไรกลับมาเติบโตดีหลังการแข่งขันลด และได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว
2. AOT มองว่าได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปิดประเทศ และจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ดังนั้น คาดว่าจะมีผลประกอบการกำไรแบบเต็มปีในปี 2567
3. BDMS ได้ประโยชน์จากการเดินทางข้ามประเทศฟื้นตัวและการขยายตัวของคนไข้ทั้งในและต่างประเทศจากกลุ่มลูกค้าประกัน ประกันสังคม และต่างชาติ
4. CPALL คาดกำไรฟื้นตัวในไตรมาส 4/66-ปี 67 จากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวและมาตรการกระตุ้นภาครัฐ
5. TOP ปัจจัยสนับสนุนจากกำไรฟื้นตัวตามแนวโน้มค่าการกลั่นและราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น มองครึ่งปีหลังของปี 66 จะมีค่าการกลั่นเฉลี่ยยืนเหนือ 8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้น อุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัว และได้แรงหนุนจากความคืบหน้าแผนเพิ่มประสิทธิภาพตอบโจทย์ตลาดในอนาคต

สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้น DELTA เนื่องจาก ราคาเกินมูลค่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก (ข้อมูลวันที่ตอบแบบสอบถาม 21-27 ก.ย.66) และกลุ่มหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐและต้นทุนพลังงาน

นักวิเคราะห์ยังได้เพิ่มเติมการแนะนำไปยังรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ มีความคุ้มค่ากับผลกระทบทางงบประมาณ โดยส่วนใหญ่กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แยกเป็นการลงทุนภาครัฐที่หนุนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Land Bridge ถัดมาคือด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจได้แก่ นโยบายกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ โปรโมตและกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย ดึงเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาในอุตสาหกรรม New S Curve และตามมาด้วย เสนอนโยบายช่วยเหลือภาคประชนได้แก่ เร่งพัฒนาแรงงานไทย กระตุ้นการจ้างงาน ลดการแจกเงินทั่วไป เพิ่มการแจกเงินเฉพาะกลุ่มรวมถึงช่วยเหลือภาระหนี้ของเกษตรกร ข้าราชการ