ความจริงความคิด : ผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริหารภาษีอย่างไรดี?

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ใกล้ปลายปีแล้ว ก็ใกล้เวลาเกษียณของมนุษย์เงินเดือน ก็ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจในหลายๆเรื่อง อย่างเช่น ประกันสังคมจะต่อ ม.39 หรือออกมารับบำนาญชราภาพดี หรือ อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะคงเงินหรือโอนเงินมากองทุน RMF เพื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) ดี ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงคือ ความคุ้มค่า (cost to benefit) ทางเลือกไหนคุ้มค่ากว่ากัน

ตัวอย่างเช่น หากเราเลือกต่อประกันสังคมมาตรา 39 แลดงว่า เราต้องการสวัสดิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคม สิ่งทีเราต้องเสีย คือ เงินสะสมเดือนละ 432 บาท และบำนาญชราภาพที่ควรจะได้

หรืออย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลักๆคือ จะคงเงินหรือย้ายเงินมา RMF for PVD ก็คือเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีว่าคุ้มหรือไม่ กับ การคงเงินไว้ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับ ภาษีที่ต้องจ่ายให้สรรพากร การจะพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจกฎหมายภาษีเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังนี้

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เป็นสวัสดิการที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้างเพื่อเพิ่มเงินออมและเงินลงทุนในช่วงที่ยังทำงานอยู่ร่วมกัน โดยมุ่งหวังให้ลูกจ้างมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ ซึ่งเงินส่วนนี้นับเป็นรายได้ที่ลูกจ้างจะได้รับมากขึ้น

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบ EEE คือ Exempt, Exempt, Exempt แปลว่า “ยกเว้น”, “ยกเว้น”, “ยกเว้น” คือ

1. เงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยกเว้นภาษี
2. ผลประโยชน์ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับ ยกเว้นภาษี
3. ผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยกเว้นภาษี (หากทำถูกต้องตามเงื่อนไขของสรรพากร)

สิทธิประโยชน์ทางภาษีข้อ 1 ไม่มีปัญหาสำหรับผู้ลงทุน เพราะแม้ว่าผู้ลงทุนจะผิดเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สรรพากรก็ไม่เรียกภาษีที่ได้รับยกเว้นคืน

ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีข้อ 2 เป็นเรื่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เกี่ยวกับผู้ลงทุน

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้ลงทุนควรคำนึง คือ ข้อ 3 ผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
(1) ผลประโยชน์ของเงินสะสมของลูกจ้าง
(2) เงินสมทบของนายจ้าง และ
(3) ผลประโยชน์ของเงินสมทบของนายจ้าง

ทั้ง 3 ส่วนนี้จะถูกนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ขึ้นอยู่กับว่า เรารับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีไหน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กรณี ดังนี้

1. รับเงินเนื่องจากเกษียณ
เนื่องจากแต่ละบริษัทกำหนดอายุเกษียณไม่เหมือนกัน บางบริษัทอาจกำหนดให้เกษียณที่อายุ 55 ปี หรือ 60 ปีหรือมีโครงการที่สามารถเกษียณอายุก่อนกำหนด (early retirement) ดังนั้น สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะเกษียณจึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขของการได้รับการยกเว้นภาษีว่าตนเองอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (นับวันเกิดชนวันเกิด) และเป็นสมาชิกต่อเนื่องกันไม่ต่ำกว่า 5 ปี (นับวันชนวัน) หรือไม่ หาก ณ วันที่เกษียณของสมาชิกเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ เงินทั้ง 3 ส่วน ก็จะได้รับยกเว้นการนำไปคำนวณภาษีเงินได้ แต่หากวันที่เกษียณไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ดังกล่าว เช่น

• อายุไม่ถึง 55 ปี และอายุไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่อง หรือ
• อายุถึง 55 ปี แต่อายุสมาชิกไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่อง
• อายุไม่ถึง 55 ปี แต่อายุสมาชิกถึง 5 ปีต่อเนื่อง

ดังนั้น หากเราไม่อยากนำเงินส่วนนี้ไปคำนวณภาษีเงินได้ เราสามารถ

(1) ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม โดยมีการคิดค่าธรรมเนียมรายปี หรือ
(2) (2 )โอนไปยังRMF for PVD ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
จนถึงระยะเวลาที่คุณสมบัติของเราเป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว จึงค่อยถอนเงินออกมา

2. รับเงินเนื่องจากออกจากงาน
หากสมาชิกออกจากงานและตัดสินใจถอนเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาทั้งหมด เงินทั้ง 3 ส่วนจะถูกนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักการ ดังนี้

2.1 กรณีสมาชิกมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี เงินทั้ง 3 ส่วนจะถูกนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี
2.2 กรณีสมาชิกมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป มีทางเลือกในการคำนวณภาษี 2 ทาง ได้แก่
2.2.1 นำเงินทั้ง 3 ส่วนไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นใน ภงด. 90 หรือ ภงด.91 เพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี
2.2.2 นำเงินทั้ง 3 ส่วนไปแยกคำนวณภาษีเงินได้ โดยแยกยื่นในใบแนบ ภงด.90 หรือ ใบแนบ ภงด.91 ข้อดีคือ

• เป็นการเริ่มนับเงินได้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ใหม่ อัตราภาษีเงินได้จะเริ่มต้นใหม่ที่อัตรา 5%
• สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ได้เพิ่มขึ้น โดยมีวิธีในการคำนวณ ดังนี้

ขั้นที่ 1 : นำ 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน แล้วนำไปหักออกจากเงินทั้ง 3 ส่วน
ขั้นที่ 2 : เงินที่เหลือจากขั้นที่ 1 หักออกอีกครึ่งหนึ่ง แล้วนำไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีตัวอย่าง
นาย ก. มีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด 1,200,000 บาท แยกเป็น
(1) เงินสะสม 500,000 บาท
(2) ผลประโยชน์ของเงินสะสม 100,000 บาท
(3) เงินสมทบ 500,000 บาท
(4) ผลประโยชน์ของเงินสมทบ 100,000 บาท

นาย ก. อายุ 40 ปี มีอายุงาน 20 ปี ต้องการออกจากงานและนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกทั้งหมด นาย A มีทางเลือก 2 ทาง ได้แก่

1. นำเงินทั้ง 3 ส่วน คือ ผลประโยชน์ของเงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์ของเงินสมทบ จำนวน 100,000+500,000+100,000 = 700,000 บาท ไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี

2. แยกคำนวณ โดย
ขั้นที่ 1 : 700,000-(7,000 x 20) = 560,000 บาท
ขั้นที่ 2 : 560,000 x 0.5 = 280,000 บาท นำไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี

หากนาย ก. ไม่อยากเสียภาษีจากเงินทั้ง 3 ส่วนนี้ นาย ก. สามารถเลือกคงเงิน เพื่อรอโอนไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่ หรือรอจนอายุ 55 ปีและอายุสมาชิกถึง 5 ปีต่อเนื่อง หรือ โอนเงินไปยังกองทุน RMF for PVD รอจนอายุ 55 ปีและอายุสมาชิกถึง 5 ปีต่อเนื่อง ค่อยถอนเงินก็ได้

3. รับเงินเนื่องจากลาออกจากกองทุน โดยไม่ลาออกจากงาน
ไม่ว่าสมาชิกจะมีอายุเท่าไร และมีอายุงานมากเท่าไร แต่หากลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงานด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องนำเงินทั้ง 3 ส่วน ที่ได้รับ มาคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี

สรุปก็คือ ถ้าไม่อยากเสียภาษีซักบาท เราต้องคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุน RMF for PVD จนกว่าอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (รวมระยะเวลาที่อยู่ในกองทุน RMF for PVD) อย่างต่ำ 5 ปีต่อเนื่องกันและอายุตัวเราเองต้องไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ แล้วค่อยถอนเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้

———————————————————————————————————————————————