ความจริงความคิด : แล้วจะมีอีกป่าว

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

 

ปีที่แล้ว ข่าวการทุจริตในวงการหุ้น อย่างเช่น STARK, EA , MORE, ฯลฯ ก็ทำให้นักลงทุนหลายคนขยาดที่จะลงทุนในหุ้น หรือ หุ้นกู้ กันมาก เพราะลำพังเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยดี การเลือกหุ้นหรือธุรกิจที่มีผลประกอบการที่ดีก็ยากพอแล้ว ยังมาต้องคอยเช็คอีกว่ามีหุ้นหรือธุรกิจไหนที่ผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารโกงป่าว และเริ่มกังวลว่า หุ้นหรือธุรกิจที่มีการทุจริตมีเฉพาะแค่นี้ หรือ ยังมีอีก ถ้าใครคิดว่าหุ้นหรือธุรกิจที่มีการทุจริตมีแค่นี้ “คุณกำลังมองโลกในแง่ดีเกินไปแล้ว”

มีทฤษฎีทางการเงินทฤษฎีหนึ่ง ชื่อ ทฤษฎีแมลงสาบ (Cockroach Theory) เป็นทฤษฎีที่ใช้เปรียบเทียบในด้านการลงทุนและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการจัดการความเสี่ยงและปัญหาทางการเงิน ทฤษฎีนี้มีพื้นฐานมาจากการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของแมลงสาบ ซึ่งกล่าวว่า หากเรากลับบ้านในวันนี้ พบแมลงสาบเดินเล่นในบ้าน 1 ตัว เราคิดว่าบ้านเราจะมีแมลงสาบกี่ตัว? มีแค่ตัวเดียวที่เราเห็น หรือยังมีอีกหลายตัวที่ซ่อนอยู่ และถ้ามีอีกหลายตัวซ่อนตัว หลายตัวที่ซ่อนมีกี่ตัว?

ทำไมต้องอุปมาอุปมัยกับ แมลงสาบ เพราะหากถามผู้หญิงว่า “แมลงอะไรน่ารังเกียจที่สุด?” เชื่อว่าคำตอบที่น่าจะติด 1 ใน 3 ของแมลงที่น่ารังเกียจที่สุดต้องมีแมลงสาบอยู่ในนั้น ขนาดในอดีตเคยมีบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งทำโฆษณาสะท้อนความเชื่อของคนหลายคนที่มองตัวแทนประกันชีวิตน่ารังเกียจเหมือนแมลงสาบ (แต่สุดท้ายแมลงสาบที่น่ารังเกียจนั่นแหละกลับมาเป็นเพื่อนแท้ที่ช่วยเหลือยามเดือดร้อน)

ทำไมแมลงสาบถึงเป็นแมลงที่ผู้หญิงรังเกียจมากเป็นอันดับต้น เหตุผลก็น่าจะเพราะแมลงสาบเป็นแมลงรบกวนที่สร้างความหงุดหงิดใจ ขยะแขยงเวลามันไต่ตัว แถมยังมีรูปร่างหน้าตาที่ทำให้หลายคนรู้สึกแหยง ๆ มีกลิ่นสาบเฉพาะที่ชวนอ้วก แมลงสาบยังเป็นตัวแพร่เชื้อโรคและสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้อีกด้วย ในทางการเงินจึงใช้แมลงสาบเป็นตัวอุปมาอุปไมยถึงข่าวร้ายต่างๆ อย่างเช่น ข่าวทุจริตของเจ้าของหรือผู้บริหารจนทำให้ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้เสียหายไปตามกัน

และที่น่ากังวลก็คือแมลงสาบจะโตเต็มวัยเมื่อ 7 วัน อายุ 4–7 วันเริ่มผสมพันธุ์ วางไข่ครั้งละ 16–28 ฟอง ในหนึ่งรังไข่ ตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ 22–40 รังไข่ เท่ากับ แมลงสาบตัวเมีย 1 ตัวจะมีลูกประมาณ 352 -1,120 ตัว ฟักภายใน 30–46 วัน มีอายุประมาณ 212–294 วัน นอกจากนี้แล้วจากการศึกษาของนักกีฏวิทยาชาวญี่ปุ่นพบว่า แมลงสาบสามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งตัวผู้ได้ OMG!!!!

เมื่อเอาลักษณะธรรมชาติของแมลงสาบมาคิดรวมกัน ในทางการเงิน ทฤษฎีแมลงสาบจึงหมายถึง ข่าวเมื่อบริษัทหรือสินทรัพย์มีปัญหาทางการเงินหรือการบริหารใด ๆ ปัญหาที่เห็นอาจเป็นแค่เพียงส่วนเล็กของปัญหาที่ซ่อนอยู่ และมีโอกาสสูงที่ปัญหาหรือความเสี่ยงอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ถูกเปิดเผยจะตามมา เช่น เมื่อมีข่าวร้ายเกี่ยวกับบริษัทหรือภาคธุรกิจใด ๆ นักลงทุนมักจะคาดการณ์ว่าจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาในอนาคตเหมือนกับการพบแมลงสาบตัวหนึ่งแล้วคาดว่าจะมีตัวอื่นซ่อนอยู่นั่นเอง

ทฤษฎีแมลงสาบจึงเป็นทฤษฎีที่เตือนให้เรา “อย่าประมาท” เพราะข่าวร้ายที่เกิดรอบตัวเราไม่ได้มีแค่ข่าวในวงการหุ้นเท่านั้น ยังมีข่าวกรณีแชร์ลูกโซ่ หรือ มิจฉาชีพ ที่พบเห็นทุกวัน รวมถึงข่าวร้ายอื่นๆอย่างเช่น ภัยน้ำท่วมที่เกิดในภาคเหนือ โรคมะเร็งที่เกิดกับคนรอบตัว ฯลฯ เมื่อข่าวร้ายเหล่านี้เกิดกับคนรอบตัวเราได้ ให้คิดเสมอว่า “เกิดกับเราได้ด้วยเหมือนกัน” ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะป้องกันให้ตนเองปลอดภัยจากข่าวร้ายเหล่านั้น

อย่างเช่น กรณีการลงทุน ก็เลือกหุ้นหรือธุรกิจที่นอกจากผลประกอบการดีแล้ว ต้องมั่นใจได้ว่าผู้บริหารมีจรรยาบรรณที่ดีด้วย เราอาจจะดูจากพฤติกรรมในอดีต อาจจะดูยากหน่อย และอย่างที่ ก.ล.ต เตือนเสมอ “ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลตอบแทนในอนาคต” แต่การดูยากหรือปัจจุบันอาจไม่เหมือนอดีต ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ดู แต่กลับเป็นเหตุผลที่เราต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพราะอย่างไรก็ตาม หากมีอะไรเกิดขึ้น คนที่เสียหายก็คือ เราเอง

หรืออย่างเรื่องใกล้ตัว เช่น คนรอบตัวเป็นมะเร็ง เราก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพเพื่อลดโอกาสการเป็นมะเร็ง และซื้อประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงเพื่อบรรเทาความเสียหายทางการเงินหากเป็นมะเร็งจริงๆ จะได้ไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน และยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะรักษาเงินออมที่ตั้งใจเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ด้วย อย่างที่ แจ็คหม่า กล่าวไว้

“คุณจะไม่ล้มละลาย เพราะ คุณซื้อประกัน แต่คุณจะเป็นต้นเหตุทำให้ครอบครัวคุณต้องล้มละลาย หากคุณไม่ซื้อประกัน”

วันนี้ลองมองไปรอบๆ ตัวนะว่า “มีแมลงสาบกี่ตัว” แล้วอย่าเผลอคิดว่า “มีแค่ตัวเดียว” หล่ะ