หุ้นร่วง-บาทอ่อน-บอนด์ยีลด์พุ่ง ต่างชาติหนี ผวาไทยถูกหั่นเครดิต

HoonSmart.com>>ไทยอ่อนแอ หุ้นปิดลบ 4.61 จุด วอลุ่มบาง 4.3 หมื่นล้านบาท เงินบาทอ่อนเร็วแตะ 36 บาท/ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน บอนด์ยีลด์ขึ้นแรงผิดปกติ หลังจากคลังประกาศกู้เงินเพิ่มในงบปี 67  ส่งสัญญาณหนี้สาธารณะจะขึ้นสูงสุด หวั่นประเทศถูกหั่นเครดิต นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้น-ตราสารหนี้รวมเฉียด 3,000 ล้านบาท พุ่งเป้าหุ้นได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ  กลุ่มไฟฟ้า สถานีบริการและแบงก์ 

วันที่ 19 ก.ย.66 ตลาดหุ้นปรับตัวลงตามภูมิภาค ดัชนีปิดที่ระดับ 1,522.96 จุด ลดลง 4.61 จุด หรือ -0.30% มูลค่าซื้อขาย 43,232.58 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศยังคงขายต่อเนื่อง 1,117 ล้านบาท และขายตราสารหนี้ 1,740 ล้านบาท หลังจากอัตราผลตอบแทน(ยิลด์) พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 2.78% เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานประมาณ  4-12 bps. โดยกระทรวงการคลังจัดประชุม Market Dialogue ประกาศจะกู้ยืมเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 โดยเป็นการออกพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 ล้านล้านบาท  ทั้งนี้ต่างชาติขายหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งสิ้น 151,225 ล้านบาท

ด้านค่าเงินบาทอ่อนค่า 0.77% แตะ 36 บาท/ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดิอนพ.ย. 2565 จากความกังวลกระแสการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  นักลงทุนต่างชาติขายทั้งหุ้นและบอนด์ รวมถึงการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในเดือนก.ย.นี้

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า วันที่ 22 ส.ค.66  นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดัชนีฯกระโดดขึ้นมาราว 20 จุด มาอยู่ที่ 1,545.6 จุด แต่วันนี้ดัชนีฯปิดตลาดที่ 1,522.96 จุด กลับไปอยู่ที่เดิมก่อนวันที่ได้นายกฯ ซึ่งเป็นวันที่ 21 ส.ค.66 ดัชนีฯปิดที่ 1,525.85 จุด สำหรับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติยังมียอดขายสุทธิประมาณ 18,300 ล้านบาท (นับจากวันที่ 22 ส.ค.66 ถึง 18 ก.ย.66)

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยอยู่ในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก นักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอดูผลการประชุมเฟด  นักลงทุนบางส่วนก็ขายเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน นอกจากนี้ตลาดได้รับแรงกดดันจากหุ้นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาล อย่างกลุ่มโรงไฟฟ้า สถานีให้บริการน้ำมัน จะถูกขายออกมา เป็นความเสี่ยงของตลาด ทำให้วอลุ่มเทรดหายไปด้วย อีกทั้งดัชนีฯหลุด 1,540 จุด ก็ทำให้เกิดแรงขายออกมาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของไทยปรับขึ้นแรงผิดปกติ เป็นผลจากหนี้สาธารณะที่จะขึ้นสูงสุด ทำให้กลัวถูกปรับลดอันดับเครดิตประเทศ ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้น จึงน่าสนใจลดลง ทำให้หุ้นปรับตัวลง

ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียวันนี้เคลื่อนไหวในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตลาดในยุโรปจะเปิดในแดนบวกได้ เนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ทำให้เชื่อว่าจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก จากการมองดอกเบี้ยพีคไปแล้ว

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) ตลาดมีโอกาสที่จะย่อตัวลง โดยมีแนวรับ 1,515 จุด แนวต้าน 1,530-1,540 จุด

ธนาคารกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่า 0.77% แตะ 36 บาท/ดอลลาร์ ต่ำสุดนับตั้งแต่เดิอนพ.ย. 2565 หลังปริมาณพันธบัตรรัฐฐาลไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 0.12% ท่ามกลางเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่อง ประกอบกับแรงกดดันจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าก่อนการประชุมเฟดในคืนวันพุธนี้

“คาดการณ์แนวต้านระยะสั้นที่ 36.30 บาท ด้วยแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกและความเสี่ยงที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด จากแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะราคาน้ำมันสูงในระยะนี้”ธนาคารกสิกรไทยระบุ

สำหรับปริมาณพันธบัตรออกใหม่ของ สบน. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นไปตามแผนงบการคลังระยะปานกลาง และภายใต้การบริหารของรัฐบาลใหม่ที่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาทิ การพักหนี้ เกษตรกร และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมาตรการลดค่าครองชีพอย่างการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ปริมาณพันธบัตรออกใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ยังไม่ได้นับรวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนที่ยังไม่มีความชัดเจนของแหล่งที่มาของเงินทุน
ประมาณการว่า สบน. มีแนวโน้มที่จะออกพันธบัตรในปีงบประมาณ 2567 ที่ราว 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566  ที่1.10 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ประเมินว่าราว 700,000-750,000 ล้านบาท จะเป็นการกู้ยืมใหม่