KTAM Focus : “หลักกิโลสุดท้าย”

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

จุดเปลี่ยน? Nick Timiraos “เฟดพรายกระซิบ” เผยแพร่บทความลง WSJ (10 ก.ย.) เฟดเคยตั้งธงไว้ว่าขึ้นดอกเบี้ย “เยอะเกิน” ดีกว่า “น้อยไป” ตลอดปีที่ผ่านมาซึ่งสหรัฐเผชิญปัญหาเงินเฟ้อไม่ยอมลง แต่ปัจจุบันคณะกรรมการมองความเสี่ยงสองด้านสมดุลกันมากขึ้น หลังเงินเฟ้อชะลอต่อเนื่องและตลาดแรงงานคลายความร้อนแรง จึงส่งสัญญาณ pause เพื่อใช้เวลาพิจารณาอย่างระมัดระวัง ประมาณการdot plot พุธนี้คงเปิดทางขึ้นดอกเบี้ยไว้ 1 ครั้งเช่นเคย แต่จะขึ้นจริงหรือไม่? ข้อมูลเศรษฐกิจระยะถัดไปเป็นตัวกำหนด

เงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐ ส.ค. สูงกว่าคาด Core CPI +0.3%MoM เร่งขึ้นครั้งแรกใน 6 เดือน สาเหตุหลักคือราคาภาคขนส่งพุ่ง CPI +0.6%MoM เท่าคาดการณ์ เงินเฟ้อทั่วไปสูงแต่ตลาดไม่ตกใจเพราะเห็นอยู่แล้วว่าราคาน้ำมันขึ้น ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานกลับมาเร่งตัวจะบีบเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือเปล่า? ตลาดตอบชัดเจนว่า “ไม่” โดยล่าสุด (15 ก.ย.) FedWatch Tool บ่งชี้ “เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว”

สองปัจจัยบั่นทอนการบริโภค จะเข้ามาถ่วงเศรษฐกิจสหรัฐ และอาจ “ปิดฉาก” วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น!

  1. เงินออมส่วนเกิน (excess savings) ที่ชาวอเมริกันได้รับจากมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่สมัยวิกฤตโควิดกำลังจะหมดไปภายในไตรมาสนี้ (เฟดสาขาซานฟรานฯเคยประมาณการไว้)
  2. ลูกหนี้เพื่อการศึกษา (student loans) 43 ล้านคน ซึ่งเคยได้พักชำระมานาน 3ปีครึ่ง (ตั้งแต่ มี.ค. 2020) จะต้องกลับมาจ่ายหนี้ตามปกติในเดือนหน้า

เศรษฐกิจจีนพ้นจุดต่ำสุด? ข้อมูลชุดใหญ่ ส.ค. ค้าปลีก +4.6%YoY เติบโตดีขึ้นและสูงกว่าคาด (คาดการณ์ +3%, ก.ค. +2.5%) ผลผลิตอุตสาหกรรม +4.5%YoY เร่งขึ้นและดีกว่าคาดเช่นกัน (คาดการณ์ +3.9%, ก.ค. +3.7%) มีเพียงการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ม.ค.-ส.ค. ชะลอและต่ำกว่าคาดเล็กน้อย +3.2% (คาดการณ์ +3.3%, ก.ค. +3.4%) ภาคอสังหาฯหดตัว โครงสร้างพื้นฐานชะลอ แต่การลงทุนภาคผลิตเร่งขึ้น สอดคล้องกับตัวเลข PMI ภาคผลิตจัดทำโดย Caixin ซึ่งพลิกกลับมาขยายตัว (> 50)

สินเชื่อจีนฟื้น PBOC กระตุ้นซ้ำ! สินเชื่อใหม่ ส.ค. สูงเกือบ 4 เท่าของ ก.ค. ยอดจัดหาเงินรวม (total social financing) เพิ่มขึ้น 3.12 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้ China Bloomberg Credit Impulse Index ปรับตัวขึ้นครั้งแรกใน 5 เดือน! แบงก์ชาติจีน (PBOC) ประกาศ (14 ก.ย.) ลดอัตรากันสำรองธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) ลงอีก 25 bps มีผล 15 ก.ย. ตอกย้ำสมมุติฐานของเรา “หากธนาคารกลางใหญ่ๆในโลกตะวันตก (Fed, ECB) คลายความเข้มงวด จีนจะกล้ากระตุ้นเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น เพราะไม่ต้องกลัวหยวนอ่อนค่า”

นักกลยุทธ์ KTAM ย้ำมุมมองบวก “โภคภัณฑ์” และ “จีน” (หุ้นจีน บอนด์จีน เงินหยวน) คาดหวังการฟื้นตัวในอนาคตอันใกล้ เมื่อเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย ยีลด์พันธบัตรสหรัฐพบจุดดุลยภาพใหม่ ดอลลาร์อ่อนค่า เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวตามมาตรการกระตุ้น เราเชื่อว่า “ชาวดอยจีน” เดินทางมาถึง “หลักกิโลสุดท้าย”

หมายเหตุ: ผู้ที่มีกองทุนจีนมากเกินไปแล้วก็ควรกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในตลาดอื่นๆบ้าง

*** อัพเดตความเห็นล่าสุดของเราได้ทุกเช้าที่รายการ Fund Today by KTAM ***

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:55 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์855

คำเตือน:

  1. ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  2. ทุกความคิดเห็นเป็นมุมมองส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ house view ของ บลจ. ธนาคาร หรือองค์กรใดๆทั้งสิ้น
  3. พอร์ต Belief Allocation และ Today Strategy จัดให้สอดคล้องกับมุมมองส่วนตัวตามข้อ 2 โดยทั้งคู่ลงทุนสไตล์ “สุดโต่ง-ไร้ขีดจำกัด” จึงมีความเสี่ยงสูงและแตกต่างจาก asset allocation ทั่วๆไปเป็นอย่างมาก
  4. ผู้ที่ต้องการทำ asset allocation ในรูปแบบปกติ ควรพิจารณากองทุน มั่ง | มี | ศรี | สุข หรือ KTWC