HoonSmart.com>>ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งฟาดกำไรรวม 63,585 ล้านบาท โต 6.91% รายได้ดอกเบี้ยสุทธิดีขึ้น ไม่เร่งตั้งสำรองหนี้เพิ่ม SCB ลดภาระรายจ่ายส่วนนี้ลงถึง 10% หนุนกำไรดีเกินคาด 10,941 ล้านบาท โต 13.23% นักวิเคราะห์เล็งเพิ่มเป้ากำไร ชูจุดเด่นปันผลแจ่ม ปลุกหุ้นวิ่ง 3% KTB โกยกำไร 11,107 ล้านบาท เพิ่ม 8 % คงสำรองสูง184% CGSI เชียร์ BBL เป้า 195 บาท 3 ปีรับปันผล 4.5-4.8% ต่อปี ธนาคารดาหน้าหั่นดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% เก็งส่งผลลบหุ้นแบงก์วันนี้
ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ประกาศผลงานไตรมาส 3/2567 ครบถ้วน มีกำไรรวมทั้งสิ้น 63,585 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,112 ล้านบาท เติบโต 6.91% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 59,473 ล้านบาท และดีขึ้นจากไตรมาส 2/2567 ที่มีกำไรรวมไม่ถึง 63,000 ล้านบาท ส่วนผลงานรวม 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรทั้งสิ้น 190,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,617 ล้านบาทหรือ 4.75% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 181,392 ล้านบาท
ธนาคารส่วนใหญ่มีกำไรเติบโตตามคาด จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิดีขึ้น แม้ชะลอการปล่อยสินเชื่อก็ตาม เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้น และแบงก์ขนาดใหญ่ไม่เร่งตั้งสำรองหนี้สูงเหมือนครึ่งปีแรก ทำให้ธนาคาร 4 แห่งมีกำไรมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อไตรมาส โดยธนาคารกรุงเทพ (BBL) กำไรนำสูงสุด 12,476 ล้านบาท โต 9.92% ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ทำได้ 11,965 ล้านบาท โต 6.05% ธนาคารกรุงไทย(KTB) กำไร 11,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.02% และบริษัทเอสซีบี เอกซ์ (SCB) กำไร 10,941 ล้านบาท โต 13.23%
โดยเฉพา SCB กำไรโตถึง 13% ดีเกินคาด มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 32,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 17,606 ล้านบาทลดลง 4.8% และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ไม่รวมผลกระทบจากการขายแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี Robinhood อยู่ที่ 40.9% เพราะตั้งสำรองหนี้ลดลง 10.4%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง มุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพและเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน
ส่วนการร่วมกับสองธนาคารดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาค ได้แก่ KakaoBank และ WeBank ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน อีกทั้งยังส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
บล.แลนด์ แอนด์เฮ้าส์มองกำไร SCB ออกมาดีกว่าที่คาด รวม 9 เดือนคิดเป็น 80% ของประมาณการกำไรทั้งปีของเรา มีโอกาสที่จะปรับประมาณการกำไรปีนี้เพิ่มขึ้นหลังการประชุม Analyst Meeting ในบ่ายวันที่ 21 ต.ค. ยังคงแนะนำซื้อลงทุน SCB ถือเป็นหุ้นธนาคารที่มีอัตราเงินปันผลที่สูงสุดในกลุ่ม คาดปีนี้มีอัตราปันผลตอบแทนสูงถึง 8.7% โดยมีราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 122 บาท
ส่วนกำไรที่ไตรมาส 3/2567 สูงถึง 10,941 ลบ. เพิ่มขึ้น +9.3% QoQ และ +13.2% YoY โดยเป็นผลหลักจากสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (สำรอง ECL) ลดลง 5.7% QoQ และ 10.4% YoY ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของธุรกิจ CardX ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษียังคงทรงตัวทั้ง QoQ และ YoY โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังทรงตัว QoQ และ +3.5% YoY บวกกับการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้ดีโดยลดลง -5.2% QoQ และ -4.8% YoY แต่เป็นผลจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังลดลงมากทั้ง QoQ และ YoY
เมื่อ 30 ก.ย.2567 SCB ได้ประกาศขายหุ้น 100% ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส (PPV) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ให้กับกลุ่มผู้ลงทุนซึ่งนำโดยบริษัท ยิบอินซอย มีมูลค่าการขายรวมอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยการชำระเงินครั้งแรก 400 ล้านบาท และส่วนเพิ่มตามผลประกอบการสูงสุดไม่เกิน 1,600 ล้านบาท ในไตรมาส 3 บริษัทขาดทุนจากการขายธุรกิจ 731 ล้านบาท นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายจากการด้อยค่าครั้งเดียว 797 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีผลกระทบสุทธิรวมเป็น 1,528 ล้านบาทจากการปิดและการขายบริษัท PPV
ด้านธนาคารกรุงไทย (KTB)ประกาศกำไรสุทธิ 11,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.02% รวม 9 เดือนปีนี้กำไรทั้งสิ้น 33,381 ล้านบาท เติบโต 9.43%
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 กำไรดีขึ้นมาจากรายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว 4.3% การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ Cost to Income ratio ลดลงเหลือ 42.4% ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา กำไรลดลงเล็กน้อย ธนาคารเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินทรัพย์ รักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 184.1% เพิ่มขึ้นจาก 181.3% ณสิ้นปี2566 สินเชื่อโตใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการบริหารจัดการ Portfolio รักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน แม้มีการชำระคืนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานขยายตัวเล็กน้อย 2.8% ทั้งนี้ มีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 98,301 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากสิ้นปี 2566 มี NPLs Ratio เท่ากับ 3.14%
บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ว่า BBL ทำกำไรสุทธิได้ 1.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% yoy และ 5.7% qoq สูงกว่าประมาณการของ Bloomberg consensus 9% แต่ต่ำกว่าที่ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 6.5% ส่วนกำไรก่อนตั้งสำรองเติบโต 2.7% yoy แต่ลดลง 1.4% qoq ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 195 บาท เท่ากับ P/BV 0.62 เท่าในปี 2568 อัตราส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้ NPL แข็งแกร่ง คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลอยู่ที่ 4.5-4.8% ต่อปี ในปี 2567-2569
วันที่ 21 ต.ค.2567 ราคาหุ้นแบงก์ส่วนใหญ่อ่อนตัวลงตามภาวะตลาด ยกเว้น SCB เพิ่งตื่นขึ้นมาวิ่ง จากที่นิ่งแถว 110 บาทมานาน วันนี้ ปิดที่จุดสูงสุด 114 บาท บวก 4 บาทหรือ +3.64% ด้านมูลค่าการซื้อขายสูงสุดของวันที่ระดับ 3,331.94 ล้านบาท เก็งเรื่องกำไรดีกว่าคาดและนักวิเคราะห์มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการปีนี้ปีหน้าพร้อมราคาเป้าหมาย
หลังจากกนง.เซอร์ไพรส์ตลาด มีมติ 5 ต่อ 2 ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ส่งผลให้ธนาคารรัฐ 3 แห่ง ปรับลดตาม นำโดย ออมสิน EXIM BANK และ ธกส. วันนี้ (21 ต.ค. 67) ธนาคารกสิกรไทย นำล่องแบงก์พาณิชย์ ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ให้กับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 7.59% เป็น 7.34% ต่อปี ส่วนประเภทแบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลด 0.12% จาก 7.27% เป็น 7.15% และลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลด 0.12% จาก 7.30% เป็น 7.18% รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25%ให้กับ MOR เหลือ 7.325% และลด 0.125% ให้กับ MRR จาก 7.30% เป็น 7.175% และ MLR จาก 7.05% เป็น 6.925% เช่นเดียวกับธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ลด MOR 0.25% ต่อปี ส่วน MLR และ MRR ลดลง 0.125% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้การปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเพียงขาเดียว ขณะที่ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ NIM ของแบงก์ลดลง มีผลกระทบโดยตรงต่อกำไร ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อหุ้นกลุ่มแบงก์