เงินเฟ้อก.ย.โต 0.61%ต่ำกว่าคาด คาด Q4 เพิ่ม 1.49% หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 0.2-0.8%

HoonSmart.com>>อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.โต 0.61% แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.74-0.80%  ราคาข้าว ผักเพิ่มขึ้น ส่วนไตรมาส4 คาดเร่งขึ้นมากถึง 1.49% น้ำท่วมดันราคาผักสูงขึ้น เป้าทั้งปีนี้ถูกปรับลดเหลือ 0.2-0.8% จากเป้าเดิมที่ 0-1% แต่คงค่ากลางที่ 0.5%  จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ค่าเงินบาทแข็งมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสกิรไทยคงเป้าเงินเฟ้อปีนี้ที่ 0.5% เร่งขึ้นปลายปี หวั่นราคาน้ำมันดิบ 80 เหรียญ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ 108.68  เพิ่มขึ้น 0.61% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.74-0.80%

สาเหตุที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.61% มีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้น ผักสดบางชนิดที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 0.20%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนก.ย. อยู่ที่ 105.18 เพิ่มขึ้น 0.77% เฉลี่ย 9 เดือนแรกสูงขึ้น 0.48%

ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ราคาสินค้าและบริการสำคัญเพิ่มขึ้น 274 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ข้าวสารเหนียว, พริกสด, ผักชี, ต้นหอม, กล้วยน้ำว้า, ไข่ไก่, น้ำตาลทราย, น้ำมันดีเซล ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ปลาทู, กระเทียม, ส้มเขียวหวาน, น้ำมันพืช, ผงซักฟอก, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, แชมพู, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 49 รายการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ก๊าซหุงต้ม, ค่าโดยสารแท็กซี่, ค่าโดยสารเรือ เป็นต้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค.ได้ปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปีนี้มาอยู่ที่ 0.2-0.8% จากเป้าเดิมที่ 0-1% แต่ค่ากลางยังคงเท่าเดิมที่ 0.5% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประเมินไว้และเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคาด โดยสมมติฐานล่าสุดของเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่มาจาก GDP ปีนี้ขยายตัว 2.3-2.8% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และค่าเงินบาทเฉลี่ย  34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.49% เดือนต.ค. คาดว่าอยู่ที่ 1.25% ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 3 โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2) ผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้น แต่คาดว่าเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น และ 3) สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอตัวลงได้ เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าไตรมาสที่ 4/ 2566 เฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรล  ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์ ทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ลดลง, การแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนเงินเฟ้อสูง ส่วนการแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ไม่ได้ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น จากการสำรวจร้านขายของชำ 133 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ร้านส่วนใหญ่ 95.5% ราคาสินค้ายังคงที่ และร้านส่วนใหญ่เกือบ 62% มียอดขายดีขึ้น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า เงินเฟ้อเดือนก.ย. เร่งตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 0.61% YoY เนื่องจากราคาผักสดผลไม้สดปรับสูงขึ้นหลังผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายบางส่วนจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำตามมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากทางภาครัฐตรึงราคาค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อแม้ว่าจะเร่งสูงขึ้นแต่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยมีแรงกดดันหลักมาจากราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์และเบนซินในประเทศในเดือน ก.ย. 2567 ที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 0.5% คาดว่าจะเร่งสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีความเสี่ยงที่อาจเพิ่มสูงขึ้นมาแตะระดับราว 80 ดอลลาร์ฯ/ บาร์เรล จากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง