BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้แกว่งออกข้าง กรอบ 34.85-35.40 บาท/ดอลลาร์

HoonSmart.com>> “กรุงศรี” คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.85-35.40 บาท/ดอลลาร์ แกว่งตัวออกด้านข้าง รอข้อมูลภาคบริการเดือนส.ค.ของสหรัฐฯเพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินต่อไป

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.85-35.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.00 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.89-35.28 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญในช่วงต้นของสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังยอดเปิดรับสมัครงานเดือนก.ค.ของสหรัฐฯดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 64 รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อ PCE ที่ออกมาตามคาด และการพุ่งขึ้นของอัตราการว่างงานสู่ 3.8% ในเดือนส.ค.จาก 3.5% ทำให้ตลาดเชื่อมั่นมากขึ้นว่าวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)อาจสิ้นสุดลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯลดช่วงลบท้ายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนปรับสถานะก่อนช่วงวันหยุดยาวในสหรัฐฯ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 5,263 ล้านบาท และ 6,523 ล้านบาท ตามลำดับ โดยภาพรวมในสิงหาคม เงินบาทอ่อนค่าลง 2.3% จากเดือนก่อนหน้า

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า ผู้ร่วมตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลภาคบริการเดือนส.ค.ของสหรัฐฯเพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินต่อไป
ทั้งนี้ สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีความน่าจะเป็นราว 90% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. และโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.ลดลงเหลือ 35% อย่างไรก็ดี หากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอนอกสหรัฐฯ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและยุโรปยืดเยื้อหรือรุนแรงมากขึ้น แรงขายเงินดอลลาร์อาจถูกจำกัดในระยะนี้

สำหรับประเด็นในประเทศ กรุงศรีคาดว่า นักลงทุนจะติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค.ของไทยและความชัดเจนเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทางด้านธปท.เปิดเผยว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.ค.ขาดดุล 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พลิกจากที่เกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. โดยธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยเดือนก.ค. อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามการใช้จ่ายในประเทศและภาคบริการ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกยังลดลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ต้องติดตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า นโยบายของรัฐบาล และผลกระทบของ El Nino ต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร

อนึ่ง เรามีมุมมองที่ระมัดระวังต่อภาคส่งออกที่ซบเซา รวมถึงแผนการจัดสรรเม็ดเงินสำหรับนโยบายประชานิยมและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่กลับมาสูงขึ้นต่อเนื่องจากภาวะอุปทานตึงตัว