PRINC มั่นใจรายได้ Q3/66 โตตามเป้าจากเข้าไฮซีซั่น

HoonSmart.com>>”พริ้นซิเพิล แคปิตอล”(PRINC) แย้มไตรมาส 3/66 เข้าไฮซีซั่น มั่นใจรายได้เติบโตตามเป้าหมาย เพิ่มการขยายโรงพยาบาลต่อเนื่อง พร้อมร่วมมือพันธมิตร BACKYARD เร่งยกระดับมาตรฐานการเชื่อมโยงใช้ข้อมูลสุขภาพสู่ระดับสากล

บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC)และ บริษัท แบ็คยาร์ด (BACKYARD) บริษัทผู้พัฒนาระบบจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการดูแลผู้ป่วยและการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพ ร่วมลงนามความร่วมมือใช้มาตรฐานข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ (MEDconnext FHIR Standard) เพื่อยกระดับบริการในโรงพยาบาลและหน่วยงานสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) กล่าวว่า โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ได้ใช้ มาตรฐานข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ (MEDconnext FHIR Standard) ซึ่งสร้างความปลอดภัยของข้อมูลผู้รับบริการในทุกระดับ และเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการขยายการบริหารจัดการโรงพยาบาลตามเป้าหมาย 20 แห่ง ซึ่งล่าสุดมีแผนขยายโรงพยาบาลแห่งใหม่ในจ.มุกดาหาร ปักหมุดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางรักษาโรคยากซับซ้อนด้วยงบลงทุน 726.5 ล้านบาท และเร็วๆนี้ ยังมีแผนขยายการลงทุน ไปยังต่างประเทศอีกด้วย ขณะเดียวกันตั้งบริษัท พริ้นซิเพิล เน็กส์ (PRINC NEXT) เตรียมขยายการลงทุนไปยังธุรกิจเฮลท์แคร์เพิ่มเติม เช่น การดูแลผู้สูงอายุแบบระยะยาว, ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์, การรักษาผู้มีบุตรยาก ฯลฯ

“ทิศทางไตรมาส 3/66 แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการบริการโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) โดยที่จำนวนผู้ป่วยครองเตียงเฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Census หรือ ADC) ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ (ไม่นับรวมโควิด) ตั้งแต่ในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้เครือรพ. เตรียมพร้อมสำหรับรองรับปริมาณความต้องการบริการทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมองว่าเมื่อมีมาตรการกระตุ้นจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และส่งผลทางตรงต่อกลุ่มผู้รับบริการกลุ่มหลัก Self-pay และกลุ่ม Insurance เติบโตขึ้นได้ต่อเนื่อง” นพ.กฤตวิทย์ กล่าว

นายดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบ็คยาร์ด กล่าวเสริมว่า การพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพ MEDconnext FHIR Standard มาจากความพยายามในการผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลเพื่อการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆ และการบริหารการจัดการ ข้อมูลสารสนเทศภายในโรงพยาบาล เพื่อยกระดับการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในวงการสุขภาพและการแพทย์ในปัจจุบัน และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพได้อย่างความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น