CKP เล็งออกหุ้นกู้ปีนี้ 2.5 พันลบ., H2/66 ขายไฟมากขึ้นหลังปริมาณน้ำสูง

HoonSmart.com>>”ซีเค พาวเวอร์”(CKP)เล็งออกหุ้นกู้ปีนี้ 2,500 ล้านบาท หากสภาพตลาดเอื้ออำนวย ใช้ทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดเดือนพ.ย.จำนวน 1,500 ล้านบาท และเตรียมเงินลงทุนในหลวงพระบาง พร้อมตั้งงบลงทุนปี 66-72 ไว้ 17,000 ล้านบาท ทั้งนี้ “น้ำงึม 2” และ “ไซยะบุรี” พร้อมเดินเครื่องผลิตไฟเต็มกำลังหลังปริมาณน้ำเข้ามามากในเดือนส.ค.จากเข้าสู่ฤดูฝน เล็งขายไฟได้มากขึ้นในครึ่งปีหลังจากปริมาณน้ำเข้ามามาก พร้อม”น้ำงึม 2″มีแผนซ่อมบำรุงเครื่องแรกกลางพ.ย.-ธ.ค.นี้

นายธรรมขจร นันทพงษ์ นักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เปิดเผยว่า แผนการลงทุนในช่วงปีนี้(2566) ถึงปี 2572 โดยในปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 550 ล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และตั้งงบลงทุนในช่วงปี 66-72 ไว้อีก 17,000 ล้านบาทสำหรับใส่ส่วนทุนเข้าไป เป็นส่วนที่จะต้องทยอยชำระในช่วงปีนี้ถึงปี 72 จำนวนประมาณ 17,000 ล้านบาท ก็จะตกประมาณปีละ 3-4 พันล้านบาท จะเห็นได้ว่าจะต้องชำระมากในช่วงปี 70-71

ทั้งนี้ ในส่วนหุ้นกู้ CKP จะครบกำหนดในเดือนพ.ย.จำนวน 1,500 ล้านบาท จะมีการออกหุ้นกู้เพื่อมาทดแทนหุ้นกู้เดิม แต่ก็ต้องรอดูสภาพตลาดอีกที ถ้าสภาพตลาดเอื้ออำนวยก็จะออกหุ้นกู้เกินไปอีก 1,000 ล้านบาท เตรียมไว้สำหรับลงทุนในหลวงพระบาง ส่วนโรงไฟฟ้าไซยะบุรี เตรียมที่จะออกหุ้นกู้ในเดือนต.ค.ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป

สำหรับโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ในครึ่งปีแรกรายได้ลดลงเล็กน้อย จากปกติจะมีรายได้ 3,500-4,000 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณน้ำเข้ามาน้อย รับผลกระทบจาก”เอลนีโญ” ทำให้ขายไฟฟ้าได้ลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยโลก แต่ค่าไฟ Ft ในเดือนพ.ค.-ส.ค.ยังเป็นบวก ทำให้ EBITDA “น้ำงึม 2″ในครึ่งปีแรกต่ำกว่าปกติพอควร อย่างไรก็ดี ในเดือนมี.ค.ได้มีการจ่ายเงินคืนหุ้นกู้จำนวน 800 ล้านบาท ส่งผลให้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ลดลงไป 25 ล้านบาท และในเดือนก.ย.จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอีก 400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายทางการเงินของ”น้ำงึม 2″จะลดอีก 13 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ “น้ำงึม 2″มีแผนที่จะซ่อมบำรุงปีละ 1 เทอร์ไบน์ โดยในปีนี้(2566) จะเริ่มซ่อมบำรุงเครื่องแรกเริ่มเดือนกลางพ.ย.-ธ.ค. และเครื่องที่ 2 จะซ่อมบำรุงในม.ค.-ก.พ.ปี 67 ส่วนเครื่องที่ 3 จะซ่อมบำรุงในเดือนพ.ย.-ธ.ค.ปี 68 แต่ค่าใช้จ่ายจะรับรู้เท่า ๆ กันในไตรมาส กรอบค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท จะบันทึกไตรมาสละ 25-30 ล้านบาทโดยประมาณ

“ในครึ่งปีแรกปริมาณ่น้ำจะไหลเข้ามาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะเดือน 6 (มิ.ย.)ค่อนข้างต่ำ แต่ในช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมาก็มีฝนตกหนักในลาว และน้ำไหลเข้ามาในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างมาก ถ้านับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมจนถึงเช้าวันนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำมี Flow เข้ามาถึง 1,700 ลูกบาศก์ เกือบ 1,800 และระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำจากที่อยู่ระดับ 347 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ณ สิ้นเดือน 7 (ก.ค.) แต่นับถึงเช้าวันนี้จะขึ้นไปถึง 366 สูงกว่าจุดสูงสุดของเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ทำให้เราประกาศความพร้อมจ่ายไฟในเดือนก.ย. เพิ่มจากปีที่แล้วค่อนข้างสูง รวมแล้วไตรมาส 3/66 เราประกาศความพร้อมจ่ายไปแล้ว 424 ล้านหน่วย รอดูในช่วงที่เหลือของเดือนนี้ และเดือนหน้าอีกว่า Flow ที่ไหลเข้ามาจะเป็นอย่างไร ปีนี้ฝนอาจจะมาช้า อาจ Pick up ได้ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. แต่ถ้าปริมาณน้ำเข้ามามากเราสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงครึ่งแรกปีหน้า (2567) ได้ ไม่ได้เป็นปัญหา”

สำหรับ”ไซยะบุรี”รายได้ในครึ่งปีแรกลดลงเล็กน้อย จากปริมาณน้ำเข้ามาน้อยทำให้ผลิตไฟได้ค่อนข้างน้อย และค่าใช้่จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ่ส่งผลไปที่ EBITDA ลดลงเล็กน้อย ปีนี้”ไซยะบุรี”จะต้องผลิตไฟให้เหมาะสมกับปริมารน้ำที่เข้ามา และมอนิเตอร์ดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดการหุ้นกู้ เพื่อให้ส่วนที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ กับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว มีความเหมาะสม ส่วนปริมาณน้ำที่เข้ามาใน”ไซยะบุรี”ในครั้งปีแรกจะน้อยเหมือนกับ”น้ำงึม 2″ และปริมาณน้ำมากขึ้นในต้นเดือนส.ค. นับจนถึงปัจจุบันปริมาณน้ำเข้ามาอยู่ที่ 5,000 เป็นปริมาณสูงสุด ถือว่าอยู่ในระดับเหมาะสมสำหรับการเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต