สภาพัฒน์หั่น GDP ปี’66 โตเพียง 2.5-3% ส่งออก -1.8% ไม่กระทบเป้าดัชนีหุ้น

HoonSmart.com>>สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจไตรมาส 2/66 ขยายตัวเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดมาก 3% ปรับลดคาดการณ์ทั้งปีลงเหลือ 2.5-3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% หลังจากส่งออกหดตัวต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาส  ลดเป้าส่งออกเป็น -1.8%  เงินเฟ้อทั่วไปปรับลงมาที่ 1.7-2.2% คาดธนาคารกลางต่างประเทศยังคงดอกเบี้ยสูงต่อเนื่อง เตือนรับมือ  4 ปัจจัยเสี่ยง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปีนี้เศรษฐกิจโต  3.0-3.5%  ด้านซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีคาดส่งออกปีนี้หดตัว3% บล.ลิเบอเรเตอร์ ยันไม่กระทบเป้าหมายดัชนีหุ้นปีนี้ หุ้นบวก 6.73 จุด ลุ้นเลือกนายกฯ ผ่านฉลุย 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2566 ลงเหลือ 2.5-3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% หลังจากเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)  และ +0.2% เทียบกับไตรมาสแรก(QoQ)  ต่ำกว่าที่ตลาดคาดมากที่ +1.2% QoQ, +3% YoY และชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสที่ 1

ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกหดตัวอย่างต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาส ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวสูงต่อเนื่อง การลงทุนรวมขยายตัวชะลอลง แต่การใช้จ่ายภาครัฐบาลลดลงต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขมีฐานสูงในปี 2565 ภาคการส่งออกโดยรวมขยายตัวชะลอลง โดยการส่งออกสินค้ายังคงหดตัว ในขณะที่บริการรับยังคงขยายตัวสูงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้สภาพัฒน์ ยังได้ปรับลดประมาณการส่งออกเป็น -1.8% จากเดิมคาดไว้ที่ -1.6% เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงมาที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.5-3.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลให้ธนาคารกลางสำคัญ ๆ ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อหลายประเทศยังคงสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้ม
สูงขึ้น ทำให้คาดว่าธนาคารกลางสำคัญ ๆ มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงต่อไป

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง สภาพัฒน์มองว่ายังมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 ล้านคนเท่ากับประมาณการเดิม ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว ปรับลดลงมาที่ 1.03 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.27 ล้านล้านบาท

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 2566 ได้แก่ 1.เงื่อนไขทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด และความผันผวนในตลาดการเงินโลก 3.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 4.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร

ด้านดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 เติบโต 1.8% ถือว่าผิดคาดมาก จากตลาดคาดจะโต 3.0% และฝ่ายวิจัย CGS-CIMB คาดไว้ที่ 3.1%  หลังจากส่งออกที่ออกมาต่ำกว่าคาด ขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวสูง

“ฝ่ายวิจัย CGS-CIMB คาดว่าส่งออกปีนี้จะติดลบ 3% และกำลังพิจารณาปรับลด GDP โต 3% จากเดิม 3.5% แต่ยังไม่ปรับตอนนี้ จะรอดูเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เลือกนายกรัฐมนตรีก่อน อย่างไรก็ตามส่งออกไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาด น่าจะฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง รวมถึงการลงทุนภาครัฐยังไม่ฟื้นตัว มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ ” ดร.จิติพล กล่าว

ดร.จิติพล กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม ที่รวมพรรคการเมืองหลายพรรคมาก ดังนั้นการผลักดันนโยบายต่างๆจะทำได้ยาก มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น  มองว่าภายใน 3-6 เดือนหลังจากได้นายกรัฐมนตรี รัฐบาลนี้น่าจะผลักดันนโยบายได้ 1 นโยบาย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นนโยบายที่เรียกว่าแจกเงิน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่เชื่อว่า นโยบายนี้จะถูกต่อต้าน และทำให้การผลักดันนโยบายที่ 2 เป็นไปด้วยความยากลำบากและจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2567

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจทั้งปี 2566 จะขยายตัวในกรอบโตที่ 3.0-3.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.7% จากช่วงที่เหลือของปียังมีประเด็นท้าทาย คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง และโมเมนตัมการใช้จ่ายที่ชะลอลง

ส่วนการส่งออกในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะหดตัวลึกขึ้นกว่าประมาณการเดิม จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงกว่าที่เคยประเมิน นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้ง ผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร ขณะที่โมเมนตัมการใช้จ่ายภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะอ่อนแรงลงตามรายได้การเกษตรที่ลดลง ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี หากการจัดตั้งรัฐบาลทำได้เร็วขึ้น ในภาพรวมก็น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี  และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แม้ว่าจะความเสี่ยงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่อาจเข้ามาน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

สำหรับเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.8% YoY แต่ยังคงได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายของครัวเรือนรายได้ปานกลาง-สูง

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า สภาพัฒน์ปรับตัวเลข GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.5-3.0% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้กระทบการส่งออก และการเบิกจ่ายล่าช้าก็กระทบการลงทุน ดังนั้นจะต้องรอดูผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) ถ้าจบได้ เดือนก.ย.ก็น่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาล อาจมีการปล่อยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดี ๆ ออกมา ซึ่งอาจจะมาชดเชย ทำให้ไม่ให้ต้องปรับลดเป้าดัชนี SET ปีนี้ก็ได้ เบื้องต้นมองไม่มี Downside ต่อดัชนีฯมาก

“การปรับลด GDP  ปีนี้ของสภาพัฒน์ มีตัวที่ปรับขึ้นด้วย  เช่น การบริโภคมีแนวโน้มขึ้น ขณะที่ทุกตัวมีแนวโน้มลง ดังนั้นกลุ่มค้าปลีกน่าจะได้ประโยชน์จากการรายงาน GDP ครั้งนี้ ส่วนภาคการท่องเที่ยวมองเป็นกลาง เพราะคงเป้าหมายจำนวนนักกท่องเที่ยวที่เข้าไทย 28 ล้านคน แต่มีการปรับลดรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายในปีนี้ลง จาก 1.27 ล้านล้านบาท เป็น 1.03 ล้านล้านบาท จากการมองนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่ใช้จ่ายสูงอย่างคาด”นายวิจิตรกล่าว

ด้านหุ้นที่เสียประโยชน์จากการปรับลด GDP ก็น่าจะเป็นกลุ่มส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้มอนิเตอร์อยู่ และสัญญาณการลงทุนก็ไม่มาด้วย

ตลาดหุ้นวันที่ 21 ส.ค.2566 ผันผวน ระหว่างวันปรับตัวลงต่ำสุดแตะ 1,514.70 จุด ก่อนดีดตัวขึ้นสูงสุดที่ 1,529.34 จุด และปิดที่ระดับ 1,525.85 จุด บวก 6.73 จุด หรือ 0.44% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 46,018.47 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 345.42 ล้านบาท สถาบันไทยซื้อด้วย 502.39 ล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 216.05 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนไทยขายทำกำไร 1,063.86 ล้านบาท

ส่วนค่าเงินบาท กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประมินทิศทางในสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดอ่อนค่าที่ 35.40 บาท/ดอลลาร์  จากเงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุดรอบ 14 ปี

ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นสวนทางตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 เติบโต 1.8% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3%  และสภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 ลงเหลือ 2.5-3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% และลดเป้าส่งออกเป็น -1.8%   เนื่องจากนักลงทุนกลับซื้อหุ้นสวนทาง ทำให้หุ้นฟื้นขึ้นตอบรับตั้งรัฐบาลชัดเจนคาดโหวตเลือกนายกในวันพรุ่งนี้สอบผ่าน  เชื่อตลาดตอบรับเชิงบวก แต่หากยังไม่จบมีโอกาสซึมตัวลง