ความจริงความคิด : ประกาศเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ จดหมายเตือน YOYO


โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เขย่าขวัญวันหยุดช่วงวันแม่ จนเป็นกระแสดราม่าในโซเชียลมีเดีย แซงหน้าข่าวครูกายแก้วไปเรียบร้อย ก็คงยกให้เป็นเรื่องประกาศเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่

จริงๆ ปัญหาสังคมคนสูงอายุไทยเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เรียกว่าเป็นวิกฤติคนสูงอายุเลยก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมคนสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (aged society) คือมีคนที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปีไม่ต่ำกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว ทั้งนี้นิยามสังคมคนสูงอายุ มี 3 ระดับ

• ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ7ของประชากรทั้งประเทศ

• ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงมีประชากรอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ

• ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 ตอนนั้นไทยมีสัดส่วนคนสูงอายุอยู่ที่ 10.4% ของประชากรทั้งประเทศ และเมื่อสิ้นปี 2565 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน แสดงว่า ไทยใช้เวลา 17 ปีในการก้าวจากสังคมคนสูงอายุมาเป็นสังคมคนสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และคาดว่าในปี 2574 ในเวลาอีกแค่ 10 ปี ไทยก็จะเข้าสู่สังคมคนสูงอายุอย่างเต็มที่ ซึ่งถือว่าเร็วมาก หากเทียบกับประเทศอื่นๆที่ใช้เวลาจากสังคมคนสูงอายุเป็นสังคมคนสูงอย่างสมบูรณ์เฉลี่ยประมาณ 50 ปี และใช้เวลาเฉลี่ยจากสังคมคนสูงอายุอย่างสมบูรณ์ไปเป็นสังคมคนสูงอายุอย่างเต็มที่ประมาณ 30 ปี (ข้อมูลตามตาราง)

การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของคนสูงอายุ แต่คนวัยทำงานและวัยเด็กกลับลดลง ทำให้อัตราการพึ่งพิง ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า ประชากรวัยทำงาน 100 คน จะต้องรับภาระประชากรสูงอายุและวัยเด็ก 51 คน และคาดว่าเพิ่มเป็น 64 คน ในปี พ.ศ. 2570 แปลว่า คนในวัยทำงาน 2 คนจะเลี้ยงดูคนสูงอายุ 1 คน ซึ่งเราก็สามารถสังเกตุด้วยตัวเองง่ายๆ จากครอบครัวคนไทย ณ วันนี้ มีลูกไม่เกิน 2 คน แถมคนรุ่นใหม่เริ่มมีแนวคิดไม่มีลูกกันอีก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโสดไม่มีลูก (PANK : Professional Aunt No Kid) หรือกลุ่มคนมีคู่แต่ไม่มีลูก (DINK : Dual Income No Kid) (ไม่สนเลยว่าสรรพากรจะให้สิทธิลดหย่อนลูกได้สูงถึง 60,000 บาท/ลูก 1 คน (ลูกคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา) และไม่จำกัดจำนวนลูกที่จะลดหย่อนด้วย) ทำให้คนสูงอายุปัจจุบันหลายคนเป็น “คนชรากำพร้า” คือ ไม่มีใครเลี้ยงดู

ไม่ใช่แค่คนสูงอายุที่ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองจะมีมากขึ้น แต่ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตนเองนานขึ้นจากอายุขัยที่เพิ่มขึ้นโดยอายุขัยของประชากรไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.4 เดือนต่อปี สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปรากฎการณ์นี้ กืคือ ภาวะ Double Aging คือ คนที่สูงอายุ ไม่แค่ต้องเลี้ยงดูตนเอง ยังต้องเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย เนื่องจากอายุขัยที่ยาวมากขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว

ด้วยจำนวนคนสูงอายุที่มากขึ้น และมีชีวิตยาวนานขึ้นอย่างที่เล่ามา สวัสดิการภาครัฐอย่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ปัจจุบันให้แบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ คือ

• อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
• อายุ 70 – 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
• อายุ 80 – 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
• อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท

ต้องใช้เงินมากขึ้น คาดว่าปี 2567 น่าจะต้องใช้เงิน 90,000 ล้านบาทซึ่งก็จะมาจากภาษีที่รัฐเก็บได้ แต่เพราะการบริหารภาษีสำหรับสวัสดิการเกษียณอายุของไทยเป็นแบบ Pay as you go หรือที่เรียกว่า “ภาษีตามมีตามเกิด” คือการบริหารภาษีแบบปีต่อปี ทำนองหาเช้ากินค่ำ ถ้าปีไหนเก็บภาษีได้มาก งบประมาณก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกว่า ภาษีที่เก็บได้ ถ้าไม่เก็บภาษีเพิ่ม ก็ต้องลดสวัสดิการลง

แนวโน้มคนในวัยทำงานที่ลดน้อยลง ทำให้เก็บภาษีก็ได้ยากมากขึ้น แต่กลับต้องจ่ายสวัสดิการให้คนสูงอายุมากขึ้น สุดท้ายการปรับลดสวัสดิการอย่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่คาดได้

ปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอ ไม่เพียงกระทบเบี้ยยังชีพ แต่สวัสดิการอื่นๆก็มีโอกาสถูกกระทบด้วย อย่างเช่น บัตรทอง ที่ใช้งบในแต่ละปีไม่น้อย คาดว่าในปี 2567 งบบัตรทองจะสูงถึง 2.1แสนล้านบาท

ดังนั้น ประกาศเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ จึงเป็นจดหมายเตือนที่เตือนให้เราต้องรีบวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอย่างจริงจัง เพื่อเป้าหมาย คือ YOYO : You are on your own คือ เราจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเราคนเดียว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น รวมถึงไม่พึ่งพาสวัสดิการภาครัฐด้วย ไม่ว่าจะเตรียมความพร้อมเรื่องการเงิน เรื่องสุขภาพ หรือ เรื่องครอบครัว ถ้าหากตอนเราเกษียณ สวัสดิการทั้งหมดที่มีถูกยกเลิก เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะเตรียมพร้อมอยู่แล้ว แต่ถ้าสวัสดิการยังมีอยู่ เงินที่เราเก็บ แผนเกษียณที่เราเตรียมไว้ก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตเรา

อ่านบทความอื่น

คอลัมน์ความจริงความคิด : มาประหยัดเบี้ยประกันรถกันดีกว่า ตอนที่ 1
คอลัมน์ความจริงความคิด : เสาหลักแห่งการออมเพื่อเกษียณอายุ
คอลัมน์ความจริงความคิด : 8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้คนไทย
คอลัมน์ความจริงความคิด : กรณีศึกษา ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี
คอลัมน์ความจริงความคิด : ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี ประหยัดภาษีได้เท่าไหร่
คอลัมน์ความจริงความคิด : ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี
คอลัมน์ความจริงความคิด : PM2.5 กับความเสี่ยงสุขภาพ
คอลัมน์ความจริงความคิด : กู้ร่วม
คอลัมน์ความจริงความคิด : หรือเราต้องบริหารความเสี่ยงบนการบริหารความเสี่ยง?