ความจริงความคิด : คุณค่าของคน อยู่ที่ ความรับผิดชอบ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

พอดีในหน้าเฟสของผมขึ้น memory ที่เคยโพสต์เมื่อหลายปีก่อน เป็นโพสต์เกี่ยวกับความรู้ที่ได้เรียนจากหลักสูตรของ ดร.ดรัณ เตชะโสภณวณิช สถาบันพัฒนาผู้นำเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในงานสัมมนาดังกล่าว นอกจากความรู้การพัฒนาศักยภาพของตนเองแล้ว หลักสูตรดังกล่าวยังสอนให้เราเป็นคนดี กตัญญู และที่สำคัญ ก็คือ คำสอนของอาจารย์ธนกร โกจิราพันธ์ ที่ว่า “คุณค่าของคน อยู่ที่ ความรับผิดชอบ” หากคนเราขาดความรับผิดชอบ เราก็จะเป็นคนไม่มีคุณค่า

• หากเราขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง เราก็จะเป็นคนที่มีชีวิตที่บกพร่อง เพราะเราจะไม่ศึกษาหาความรู้ ไม่ทานอาหารดีๆ ไม่ออกกำลังกาย ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่มีจุดหมาย ฯลฯ

• หากเราขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัว เราก็จะเป็นสาเหตุให้ครอบครัวมีปัญหา เพราะเราจะไม่สนใจดูแลครอบครัว ไม่ห่วงใยสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว ไม่ห่วงใยเรื่องการศึกษาของลูก ฯลฯ

• หากเราขาดความรับผิดชอบต่อคำพูด เราก็เป็นคนที่ไม่มีใครให้ความเชื่อถือ

• หากเราขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เราก็จะเป็นคนที่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลใดๆทั้งสิ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเงิน ความไว้วางใจ คือหัวใจสำคัญของธุรกิจ

• หากเราขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เราก็จะเป็นคนที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ทำให้สังคมเดือดร้อน ฯลฯ เช่น เป็นอาชญากร ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือศีลธรรม ตัวอย่างหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ผมประทับใจในวันสองวันนี้ ก็คือ ผมไปซื้อของที่ตลาดนัด ลืมเงินทอน ปรากฏพ่อค้าที่ไม่ใช่คนมีฐานะดี กลับวิ่งตามผมเพื่อเอาเงินมาคืน ทำให้ผมรู้สึกดีใจมากๆที่ได้พบคนที่ดีมีศีลธรรม

• หากเราขาดความรับผิดชอบต่อองค์กรที่เราอยู่ เช่น ไม่รับผิดชอบในงานที่ทำ ไม่ตามงานเต็มความสามารถ ฯลฯ เราก็จะเป็นคนแรกที่องค์กรพร้อมจะคัดออก

• หากเราขาดความรับผิดชอบต่อประเทศ เราก็อาจเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย เช่น หากคนในชาติขาดความสามัคคีอย่างที่เป็นอยู่ ประเทศชาติย่อมจะไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น

• หากเราขาดความรับผิดชอบต่อโลก เราก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกเสียหาย เหมือนอย่างกรณีโลกร้อนที่ส่งผลกระทบอยู่ตอนนี้

จะเห็นได้ว่า “ความรับผิดชอบ” เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นหลักการขั้นพื้นฐานของการเจริญงอกงามทั้งด้านร่างกายและจิตใจ คนที่มีความรับผิดชอบดี ก็จะปฏิบัติตนเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว องค์กร สังคม ประเทศ ซึ่งความรับผิดชอบก็จะแปรผันไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น หากเรายังเป็นเด็ก ความรับผิดชอบหลักของเราก็คือการเล่าเรียนตามหน้าที่ของนักเรียน หากเรามีคู่สมรส ความรับผิดชอบของเราก็เพิ่มขึ้นจากเราคนเดียว ก็เพิ่มคู่สมรสเข้ามาตามหน้าที่ของคู่สมรสที่ดี หรือหากเรามีลูก ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกตามหน้าที่ของผู้เป็นพ่อหรือแม่ ดังนั้น แม้เพียงมีความรับผิดชอบอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ ยังต้องรู้อีกว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรดีถึงจะสามารถรับผิดชอบตามหน้าที่ของตนที่ได้เปลี่ยนแปลงไปได้เต็มที่

ตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความรับผิดชอบที่ดี ก็คือ ผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตท่านหนึ่งที่กล่าวถึงเหตุผลของการซื้อประกันชีวิตว่าเพราะเขารักและรับผิดชอบต่อครอบครัว เขาคาดหวังให้ครอบครัวมั่นคงมีความสุข ให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี ฯลฯ ตราบใดที่ครอบครัวและลูกของเราไม่บรรลุถึงฝันที่เขาหวังไว้ เขาก็ยังต้องรับผิดชอบอยู่ นี่คือเหตุผลที่เขาตัดสินใจซื้อประกันชีวิต เพราะเขาจะได้วางใจว่าหากวันหนึ่งที่เขาต้องจากไป ความรักและความรับผิดชอบนี้จะไม่จากไปตามเขาด้วยนั่นเอง

ที่เอาเรื่องนี้มาเขียน ไม่ได้มีเจตนากล่าวถึงใครโดยเฉพาะเจาะจง เพียงแต่เตือนตัวเอง และเผื่อคนในสังคมที่วันนี้กลับคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนมาจนเกินไป ขาดความรับผิดชอบที่ดี