ความจริงความคิด : กฎ 1%

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

 

 

หากถามว่า “คนชาติไหนมีคุณภาพมากที่สุด?” คำตอบก็คงหลากหลาย แต่เชื่อนะว่า คำตอบหนึ่งที่คนตอบกันเยอะ คือ “คนญี่ปุ่น” เพราะไม่ว่าการฟื้นตัวจากภาวะสงคราม จากภัยธรรมชาติ รวมถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีต่างๆ อีกทั้งคนที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่น ต่างก็ประทับใจในความสะอาด ความมีระเบียบเรียบร้อย การวางแผนโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่น การเดินทาง ฯลฯ หลายคนถึงบอกว่า “เที่ยวญี่ปุ่น เที่ยวเองก็ได้ ปลอดภัย”

สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ “อะไร คือ เหตุผลของความมีคุณภาพของคนญี่ปุ่น?” คำตอบหนึ่ง ก็น่าจะเป็น “การอบรมสั่งสอน” เราจึงมักได้ยินปรัชญาการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่นมากมาย เช่น

1. Oubaitori ( โอบาอิโทริ ) – การไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร ถ้าอยากทำให้ตัวเองมีความสุขอย่าเปรียบเทียบกับคนอื่น และ ตั้งจุดมุ่งหมายหนึ่งอย่างให้ตัวเราเพื่อให้โฟกัสในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่เอาสิ่งนั้นไปเปรียบเทียบกับคนอื่น

2. KaiZen ( ไคเซ็น) – พัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกอย่างดีขึ้นได้ในทุกๆ วัน ค่อยๆ เชื่อในการเปลี่ยนแปลงตัวเองทีละนิดจนกลายเป็นสิ่งที่มั่นคงและถาวร

3. Mottainai ( มต-ไต-น่าย) – ไม่มีใครหรืออะไรที่ไร้ค่า มองข้อดีของสิ่งรอบตัว ทุกอย่างล้วนมีข้อดี ไม่มีสิ่งใดไร้ค่าบนโลกนี้ นาฬิกาตายแต่ก็ยังบอกเวลาได้ตรงถึงสองครั้งต่อวัน ดังนั้น จงมองเห็นข้อดีที่แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่อยู่รอบตัวเราจะช่วยพัฒนาจิตใจเราได้

4. Wabi-Sabi ( วาบิ ซาบิ ) -ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ทุกคนในโลกไม่มีใครที่มีชีวิตที่สมบูรณ์ ให้ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิตและเอาเวลาไปคิดปรับปรุงส่วนอื่นเพื่อให้เรามีคุณค่า

5. Kintsugi (คินสึงิ) – ซ่อมรอยร้าวด้วยทอง ความงดงามของบาดแผลในชีวิตเกิดขึ้นจากประสบการณ์ และสุดท้ายความผิดพลาดต่างๆ ในชีวิตจะทำให้เราสวยงามขึ้นเอง เหมือนการใช้ทองคำมาซ่อมแซมรอยร้าวของแจกันทำให้กลับมาสวยงามได้อีกครั้ง

6. Gaman (กะ-มัง) -ยึดมั่นในศักดิ์ศรีของตัวเอง เมื่อถึงวันที่เราลำบาก ท้อแท้ หมดกำลัง ให้เชื่อว่าเรามีศักดิ์ศรีและเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราสามารถทำสิ่งที่เป็นไม่ได้ให้เป็นไปได้ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ตาม

7. Yuugen ( ยูเก็น) – มองเห็นความงามที่ซ่อนอยู่ ให้เรามองถึงคุณค่าที่อยู่ภายในตัวเอง ด้วยการฝึกสัมผัส ชื่นชม และ เห็นความงดงามในตัวเรา คนรอบข้าง และ ธรรมชาติรอบตัว

8. Ikigai (อิคิไก) – หาเหตุผลของการตื่นขึ้นมาในทุกเช้า การตื่นขึ้นมาและรู้ว่าเราต้องทำอะไรในทุกๆ วัน เพื่อให้มีความสุข และมีความสุขในทุกๆ อย่างที่เราทำในแต่ละวัน

9. Shikata ga nai (ชิกะตะกาไน่) -ยอมรับและปล่อยวางกับบางเรื่อง บางเรื่องที่เกิดขึ้นก็ควบคุมไม่ได้ หรือ หมดปัญญาหาทางแก้ไข ก็ให้ปล่อยวางและก้าวต่อไป

10. Omoiyari (โอะโมยยะริ) -ให้ความสำคัญกับผู้อื่น ใจเขาใจเรา ให้เกียรติกับทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา มีความห่วงใยใส่ใจกับคนรอบข้าง

ข้อมูลจาก Twitter

 

อีกหนึ่งปรัชญาที่น่าสนใจ คือ กฎ 1% ซึ่งแสดงเป็นภาพข้างล่าง

 

กฎนี้มีความหมายว่า “ชีวิตเราไม่ต้องทำอะไรพิเศษมาก แค่ทำตัวให้ดีเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 1% เพียง 1 ปี คุณภาพตัวเราจะเป็น 37.78 เท่าของคุณภาพเราตอนต้นปีเลยทีเดียว

ในทางกลับกัน เพียงเราทำตัวแย่ลงแค่วันละ 1% เพียง 1 ปี คุณภาพตัวเราจะเหลือเพียง 0.03 เท่าของคุณภาพเราตอนต้นปีเลยทีเดียวเช่นกัน”

นั่นคือ ชีวิตเราจะ “ดีขึ้น” หรือ “แย่ลง” ขึ้นอยู่กับคำเพียง 2 คำ คือ

• “เลือก” เราเลือกทางไหน ถ้าเราเลือกทางที่ดี ทางที่ถูกต้อง สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ก็จะดี
• “มีวินัย” ลำพังแค่ “เลือก” แต่ไม่ทำ ก็เหมือนการ “นิ่ง” ไม่ก้าวเดิน แม้จะหันหน้าถูกทิศ แต่ถ้าไม่เดิน เราก็ไม่มีทางสำเร็จตามที่หวัง เหมือนหลายคนอยากเป็นคนเก่ง ซื้อหนังสือ How to มาอ่านจนเต็มบ้าน แต่ไม่เคยทำตามหนังสือเลย ความรู้ที่มีก็มีประโยชน์แค่ไว้คุยเท่านั้น การจะสำเร็จได้ต้องทำ และทำอย่างต่อเนื่องด้วย ความสำเร็จทำได้ยาก หากขาดวินัยที่จะทำอย่างต่อเนื่อง เราก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จ

กฎหนึ่งที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน คือ กฎ 5/25 ของ Warren Buffett ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า

“กฎ 5/25 คือกุญแจสู่ความสำเร็จของเขา ซึ่งเริ่มต้นจากการทำอย่างต่อเนื่อง และทำอย่างเคร่งครัด เพื่อสะสม ‘ความรู้’ ทีละเล็กทีละน้อย เสมือนกับดอกเบี้ยทบต้น แล้วสิ่งเหล่านี้เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอมันจะกลายเป็นข้อได้เปรียบของชีวิต!”

กฎ 5/25 คือเครื่องมือที่เราจะต้องระบุ 25 สิ่งที่สำคัญที่สุด โดยทำออกมาเป็น Checklist ง่าย ๆ แล้วจัดลำดับความสำคัญ โดยมุ่งเน้นไปที่ 5 อันดับแรกที่สำคัญที่สุด! เทคนิคนี้จะช่วยให้เราโฟกัสไปที่เรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะในชีวิตจริง เรามักจะเป้าหมายมากมาย ทั้งเป้าหมายที่สำคัญ กับ เป้าหมายที่อยากทำ ของฟรีไม่มีในโลก หากเราเสียเวลา เสียทรัพยากรไปกับเป้าหมายที่ไม่สำคัญ เรากำลังเสียสละเวลา ทรัพยากรที่ควรใช้กับเป้าหมายที่สำคัญเสมอ

การเลือกเป้าหมายที่สำคัญ 5 อย่างจะช่วยให้เรากลั่นกรองเป้าหมายให้เหลือแต่ที่สำคัญจริง ช่วยให้เราจดจ่อ มีสมาธิ และจัดสรรเวลา ทรัพยากรเพื่อเป้าหมายนั้นได้อย่างเต็มที่ ช่วยให้เป้าหมายในชีวิตประสบความสำเร็จกับก้าวเล็ก ๆ ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

วันนี้ เราลองมาทำ check list ดูนะว่า ทุกวันนี้ เราเสียเวลาไปกับสิ่งที่ควรเสียหรือเปล่า?