TASCO-TIPCO ยันก.ล.ต.กล่าวโทษ” กรรมการ”อินไซด์หุ้น ไม่กระทบธุรกิจ

HoonSmart.com>> ” ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) – ทิปโก้ฟูดส์ (TIPCO)” แจงกรณีก.ล.ต.กล่าวโทษ “ลักษณา ทรัพย์สาคร” กรรมการบริษัท ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น TASCO สั่งปรับเป็นเงิน 2.48 ล้านบาท ห้ามเป็นกรรมการ-ผู้บริหาร เป็นเวลา 14 เดือน ไม่กระทบการดำเนินธุรกิจของบริษัท

บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) และ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (TIPCO) ชี้แจงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งต่อนางสาวลักษณา ทรัพย์สาคร ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท กรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น TASCO ว่า บริษัทฯ ได้รับทราบข่าวดังกล่าว อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับบุคคล 2 ราย ได้แก่ (1) นางสาวลักษณา ทรัพย์สาคร และ (2) นายสมมารถ ธูปจินดา กรณีร่วมกันซื้อหุ้นบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (TIPCO) โดยอาศัยข้อมูลภายในที่ตนรู้หรือครอบครอง โดยให้ผู้กระทำผิดชำระเงินรวม 4,970,880 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามทั้ง 2 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติม พบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทำให้เชื่อได้ว่า นางสาวลักษณา ซึ่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ TIPCO และกรรมการของบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์(TASCO) ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อราคาหุ้น TIPCO เกี่ยวกับการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2563 และเงินปันผลประจำปี 2563 ของ TIPCO ในอัตรารวมหุ้นละ 0.69 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากรอบปกติ และเป็นการจ่ายในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีของ TIPCO โดยภายหลังการล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าว นางสาวลักษณาได้ร่วมกับนายสมมารถซื้อหุ้น TIPCO ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสมมารถ ก่อนที่ TIPCO จะเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

การกระทำของนางสาวลักษณาและนายสมมารถ กรณีร่วมกันซื้อหุ้น TIPCO โดยอาศัยข้อมูลภายในดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 242(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ* กับผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ (ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร) ดังนี้

(1) ให้นางสาวลักษณา ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,485,440 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 14 เดือน

(2) ให้นายสมมารถ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,485,440 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง