BYD เทคออฟ พลิกกำไร 31 ล้านบ. Q2/67 โกยรายได้ 232 ลบ.คอมมิชชั่นพุ่งกว่าเท่าตัว

HoonSmart.com>>บล.บียอนด์ (BYD) ขาขึ้น ไตรมาส 2/67 เริ่มมีกำไร 31 ล้านบาท พลิกจากปีก่อนขาดทุน 367.68 ล้านบาท เพราะหยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม หลังจากรับรู้ครบตามเงินลงทุนแล้ว ส่วนรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์ดีขึ้นทุกด้าน หนุนรายได้รวม 232  ล้านบาท โต 37% มาจากค่านายหน้า 32.85 ล้านบาท พุ่งขึ้น 125 %ตามแผนการขยายธุรกิจ ค่าธรรมเนียม-บริการ 23.56 ล้านบาท ขยายตัว 22.58% รายได้ดอกเบี้ยสูงถึง 165.28 ล้านบาท 

บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2/2567 พลิกมีกำไรสุทธิ 30.77 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.006 บาท เทียบกับที่ขาดทุนสุทธิ 367.68 ล้านบาทหรือ 0.087 บาทต่อหุ้นในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมครึ่งปีนี้ ขาดทุนเพียง 0.02 ล้านบาท ดีขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิ 655.11 ล้านบาทหรือ 0.155 บาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนงบการเงินเฉพาะกิจการ ไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 30.77 ล้านบาท ลดลงจำนวน 45.48 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 76.25 ล้านบาท

สำหรับงบที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย บริษัทมีกำไรสุทธิ 30.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 398.46 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ  367.69 ล้านบาท สาระสำคัญมาจากปีก่อนบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 443.94 ล้านบาท แต่ในปีนี้บริษัทไม่ต้องรับรู้อีกต่อไปแล้ว เพราะครบส่วนของทุนที่ได้ลงทุนแล้ว

นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นในทุกด้าน ทำให้มีรายได้รวม 231.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.13 ล้านบาทคิดเป็น 37.42% จากจำนวน 168.71 ล้านบาท  ขณะที่มีค่าใช้จ่ายจำนวน 153.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.11% หรือ 100.81 % จากจำนวน 76.49 ล้านบาท

รายได้ที่ดีขึ้นมาจากค่านายหน้า 32.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.27 ล้านบาทหรือ 125.31%จากจำนวน 14.58 ล้านบาท ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ตามแผนการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 23.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.34 ล้านบาทหรือ 22.58% เทียบกับ 19.22 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการเป็นตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน และจากค่าธรรมเนียมด้านวาณิชธนกิจ

ขณะเดียวกันมีรายได้ดอกเบี้ย 165.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.47 ล้านบาทหรือ 16.55% จาก 141.81 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท ไทย สมายล์ บัส ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทางอ้อม ตามแผนงานที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของบริษัท และมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจากยอดเงินให้กู้ยืมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตามแผนการตลาด

บริษัทยังมีผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินเป็นกำไร 0.24 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 8.62 ล้านบาท ดีขึ้น 8.86 ล้านบาทหรือ 102.78% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากในงวดเดียวกันของปีก่อนมีขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เนื่องจากสภาพโดยรวมของตลาดทุนมีความผันผวนจากปัจจัยหลายประการ ส่งผลให้ในปีนี้บริษัทได้ชะลอการทำธุรกรรมค้าหลักทรัพย์ลง  หันมาทำธุรกรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม คือ บริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น เท่ากับศูนย์บาท จากการที่บริษัทไม่ได้รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม เนื่องจากบริษัทรับรู้จนครบส่วนของทุนที่ได้ลงทุนแล้ว

ส่วนผลงานรวม 6 เดือนปีนี้ งบการเงินเฉพาะกิจการ บริษัทมีขาดทุนสุทธิ 0.02 ล้านบาท ลดลง 157.43 ล้านบาทจากปีก่อนกำไรสุทธิ 157.41 ล้านบาทและงบการเงินที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย บริษัทมีขาดทุนสุทธิ 0.02 ล้านบาท ดีขึ้น 655.09 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 655.11 ล้านบาท มีสาระสำคัญมาจากในงวดเดียวกันของปีก่อนบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 812.52 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 441.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  932.50 ล้านบาทหรือ 189.95%มาจากค่านายหน้า 52.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.97% ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 41.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.04% รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 16.11%เป็น 321.94 ล้านบาท ผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็นกำไร 11.20 ล้านบาท

สำหรับผลงานของบริษัท ไทย สมายล์ บัส  (TSB)  ตามงบการเงินรวมของบริษัท TSB มีรายได้จากการขายและให้บริการ 869.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 199.75 ล้านบาท หรือ 29.84% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและให้บริการ 669.42 ล้านบาท

ด้านบล.เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) หรือ JMT รายงานผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนปี 2567 มีกำไรสุทธิ 244.93 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 401.60 ล้านบาท มาจากรายได้รวม 739.28 ล้านบาท ลดลงจากจำนวน 905.45 ล้านบาท ตามค่านายหน้า 471.25  ล้านบาท ลดลงจากจำนวน 590.99 ล้านบาท  ค่าธรรมเนียมและบริการ 177.83  ล้านบาท ลดลงจากจำนวน 273.84 ล้านบาท ส่วนกำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินดีขึ้นเป็น 81.05 ล้านบาท เทียบกับจำนวน 39.75 ล้านบาท