HoonSmart.com>>แบงก์ชาติเผยความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเดือน ส.ค.67 เพิ่มขึ้น หลังจากปรับลดลงไปมากในเดือนก่อน คาดธุรกิจท่องเที่ยวและบริการดันเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 งบรายจ่าย-ลงทุนรัฐหนุน
ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ เผยผลสำรวจผู้ประกอบการเดือน ส.ค.2567 ถึงความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีผู้ตอบกลับจำนวน 802 บริษัท คิดเป็น 75.1% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ครอบคลุมบริษัทขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 50 แต่ลดลงต่อเนื่องทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวลดลง
โดยข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี อันดับ 1 คือ ต้นทุนการผลิตสูง ตามด้วยการปรับราคาสินค้าได้ยาก ความต้องการบริโภคภายในประเทศต่ำ มีการแข่งขันรุนแรง และเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน
สำหรับ ไตรมาส 3 นี้ เศรษฐกิจจะมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรมที่จะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง
ขณะที่ ปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี คือ ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
เดือนส.ค.นี้ คาดว่ารายจ่ายอุปโภค และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ไม่รวมรายจ่ายจากสินเชื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ล้านล้าน 5 แสนล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในเดือนก.เพิ่มขึ้น 1.5% และ 22.8% ตามลำดับ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัว จากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2567 โดยรวมปรับดีขึ้นหลังชะลอลงในเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้าและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนและจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากดุลการค้าตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ด้านการเงิน การระดมทุนสุทธิของภาคธุรกิจลดลงจากเดือนก่อนตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ จากกลุ่มธุรกิจพลังงานเป็นสำคัญ แม้ยังมีการระดมทุนใหม่ในธุรกิจกลุ่มการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อชำระคืนหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สำหรับการระดมทุนผ่านสถาบันการเงินสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินเชื่อในธุรกิจการขนส่งและก่อสร้าง