HoonSmart.com>>ผู้ถือหุ้นกู้ ACAP เตรียมรวมตัวยื่นร้องตำรวจ ปอส. ตรวจสอบการทำนิติกรรมผู้บริหาร เป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ ชี้แผนฟื้นฟูฯ ทำนักลงทุนเสียหาย
นายนครินทร์ วงแหวน ทนายความของผู้ถือหุ้นกู้บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) และกรรมการบริษัท จี 9 อินเตอร์ลอว์ เซอร์วิส เปิดเผย ผลการจัดประชุมเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ACAP ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ว่า ที่ประชุมเห็นพร้องต้องกัน 2 เรื่อง คือ
1. การรวมตัวกัน เพื่อไปยื่นต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อขอให้ปอศ.ตรวจสอบการทำนิติกรรมของบริษัทลูกหนี้ ตั้งแต่ผู้บริหารชุดเก่า จนถึงผู้บริหารชุดใหม่ ว่ามีการทำนิติกรรมโดยสุจริตหรือไม่ และการให้บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
2. แต่งตั้งตัวแทนตรวจสอบแผน เพื่อเข้าร่วมโหวตแผนฟื้นฟูกิจการวันที่ 18 กันยายน 2567 โดยจะไม่ยอมผ่านแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว หลังพบว่า แผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันคือนักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ เกิดความเสียเปรียบส่งผลกระทบในวงกว้าง
นอกจากนี้ ในที่ประชุมเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ มีความประสงค์ 1. ให้ลูกหนี้หุ้นกู้ ACAP นำทรัพย์สินมาค้ำประกัน , 2 ชี้แจงทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่ผ่านมา นำทรัพย์สินเหล่านั้นไปหาประโยชน์อันใดบ้าง และ 3 ให้บริษัทจ่ายดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้
สำหรับ เหตุผลที่จะโหวตไม่ผ่านแผนฟื้นฟูฯ เนื่องจากพบว่า แผนฟื้นฟูดังกล่าว ทำให้นักลงทุนที่เป็นผู้ถือ
หุ้นกู้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันเสียเปรียบในหลายด้าน อาทิ
-แผนฟื้นฟูระบุว่าจะชำระหนี้ภายใน 5 ปีในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 13% ของเงินต้นทั้งหมดแต่มีเอกสารแนบกำหนดว่าชำระหนี้ภายใน 8 ปีซึ่งไม่ตรงกับแผนจึงไม่ทราบว่าทำไมถึงมีเอกสารแนบดังกล่าวร่วมด้วย
-แผนยังระบุว่า ถ้าบริษัทจ่ายหนี้ภายใน 5 ปี ได้ ถึง 50% ของเงินต้น ให้ถือว่า แผนนั้นเสร็จสิ้น ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
-แผนมีการกำหนดคืนเงินต้นเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการระบุเรื่องจ่ายดอกเบี้ยมาด้วย
-บริษัท ฯ ระบุว่า ไม่จ่ายดอกเบี้ยคงค้างทั้งก่อนและหลังแผนฟื้นฟูกิจการ
– หากแผนฟื้นฟูฯ ได้รับการอนุมัติบริษัทจะจ่ายคืนเงินต้นตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ภายใน 60 วัน และงวดต่อไปจะจ่ายภายใน 12 เดือนซึ่งเท่ากับว่า 1 ปีจะมีการจ่ายคืนหนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
-กรณีบริษัท ฯ ผิดนัดชำระตามแผนฟื้นฟู ให้สามารถแก้ไขได้ภายใน 60 วันซึ่งไม่ควรจะมีข้อนี้ เพราะถ้าทำไม่ได้ไม่ควรจะเสนอไว้ในแผน
-กรณี ACAP ให้บริษัทลูก ไปซื้อหนี้จากเจ้าหนี้หุ้นกู้ในวงเงิน 40% ของเงินต้นที่ลงทุน แต่นำไปขอรับชำระหนี้จากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เต็มมูลหนี้ 100% พร้อมดอกเบี้ย ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เสียเปรียบ
-บริษัท ฯ ไม่มีการกำหนดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยและค่าบริหารแผนไว้ชัดเจน
“ผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยแต่งตั้งให้ผมเป็นตัวแทน มีทั้งหมด 65 ราย มูลหนี้ 200 ล้านบาท จากเดิม 300 ราย มูลหนี้ 600 ล้านบาท ที่หายไป เพราะขายหุ้นกู้ให้กับบริษัทลูกของ ACAP ในราคา 40% ของมูลหนี้ ตอนนี้สิทธิไปอยู่กับบริษัทลูกของ ACAP ถ้าโหวตแผนผ่าน ผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยจะเสียเปรียบ “นายนครินทร์ กล่าว
นายนครินทร์ กล่าวว่า เคยยื่นเรื่องให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบเมื่อ ม.ค.2567 แต่ ก.ล.ต.ตอบกลับมา มี.ค.2567 ว่า หลักฐานไม่เพียงพอที่เข้าไปตรวจสอบ จึงจะรวมกันไปพึ่ง ปอส.ให้ช่วยต่อไป
ดร.สมยศ ติรนวัฒนานันท์ ที่ปรึกษา บริษัท จีไนท์ อินเตอร์ลอว์ เซอร์วิส กล่าวว่า จากการดูแผนฟื้นฟูฯ ผู้ถือหุ้นกู้เสียเปรียบ โดย ACAP จะคืนให้ผู้ถือหุ้นกู้ 40% ของเงินลงทุนในหุ้นกู้ แต่จ่ายปีแรก 2% ถ้าลงทุน 1 ล้านบาท จะได้ 2 หมื่นบาท
บริษัท ที่ทำแผนฟื้นฟูฯ คือ บริษัทลูก ในมุมกฎหมายทำได้ เพราะซื้อหนี้ออกไปแล้ว แต่ในมุมของจรรยาบรรณ มองว่าไม่ควร และมองว่า ควรจะให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ร่วมทำแผนด้วย
นอกจากนี้ ไม่ระบุด้วยว่าถ้าแผนฟื้นฟูฯผ่านจะทำอย่างไรกับนักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ รวมถึง ทรัพย์ที่บริษัทลูกของ ACAP บริหารจัดการอยู่นั้น ประโยชน์ที่ได้มานำไปใช้อย่างไร
อีกทั้งการดำเนินงานของบริษัท ยังมีความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ความสำเร็จของกระบวนการเจรจาเพื่อการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้หุ้นกู้ , การขายหลักประกัน ดังนั้นมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของกลุ่มสินทรัพย์ดังกล่าว อาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการและสถานการณ์อื่น ๆในอนาคต
ทั้งนี้ การเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการการล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทฟื้นฟูกิจการ
สำหรับ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ล่าสุดผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินไตรมาส 2 ปี 2567 โดยมีการขาดสภาพคล่องมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญ 1,640.70 ล้านบาท