GFC ปักธงผู้นำ “อาเซียน” รักษาผู้มีบุตรยาก เตรียม IPO 60 ล้านหุ้น

HoonSmart.Com >> GFC เตรียมระดมทุน ขาย IPO 60 ล้านหุ้น ขยายศูนย์ผู้มีบุตรยากแนวโน้มเติบโตสูง พร้อมเปิดบริการรับฝากไข่ รับกลุ่มลูกค้าวางแผนมีลูกในอนาคต

นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์  (GFC) เปิดเผยว่า GFC เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566  โดยระดมทุน IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ  0.50 บาท

การระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ที่ใช้ลงทุนขยายคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 มูลค่าลงทุน 450 ล้านบาท และการเปิดสาขาย่อยที่อุบลราชธานี รวมทั้งมีแผนขยายสาขาให้ครอบคลุมหัวเมืองสำคัญ ควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรม นักเทคนิคการแพทย์ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัทฯเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทยและที่เป็นชาวต่างชาติในอนาคต

GFC ผู้นำการแพทย์ผู้มีบุตรยาก 

GFC ถือเป็นผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยาก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดย GFC เป็นผู้ประกอบการธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“การลงทุนครั้งนี้ เพื่อขยายศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากให้ครอบคลุมหัวเมืองหลักของไทย ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจากการดำเนินงานมา 6 ปี เราเห็นแนวโน้มความต้องการของผู้มีบุตรยากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามสภาพสังคม ความเครียดที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่ยุคใหม่ที่ไม่พร้อมในการมีบุตร เมื่อถึงเวลาที่ต้องการ ร่างกายก็ไม่พร้อม เราจึงเปิดให้บริการแช่แข็งและฝากไข่ สำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนมีบุตรในอนาคต” นายกรพัสกล่าว

โครงสร้างบริษัท-ธุรกิจหลัก

สำหรับโครงสร้างบริษัท GFC มีบริษัทย่อย 2 บริษัท (“กลุ่มบริษัท”) ที่ถือหุ้น 99.99% ได้แก่ 1). บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (“GSM”) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS ) และ 2). บริษัท      จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (“GFCFG”) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 160 ล้านหุ้น และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1). การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination) 3). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) 4). การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS) และ 5). การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ สำหรับลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติ ที่สนใจอยากมีบุตร

โครงสร้างผู้ถือหุ้น หลัง IPO 

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลัก หลัง IPO ประกอบด้วย รศ.นพ.พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติ 25.46% นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ 18.18% นางสาวภาสิรี อรวัฒนศรีกุล 14.55% นางสาวปิยะดา วิรัตน์พงษ์ 7.27% พญ.ปรวัน ตั้งธรรม 7.27% และประชาชนทั่วไป 27.27%

นายกรพัส กล่าวว่า รายได้หลักของ GFC มาจากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI หรือเด็กหลอดแก้ว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อคนประมาณ 250,000 – 300,000 บาท โดยจุดเด่นของ GFC คือการเป็นศูนย์รวมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชั้นนำด้านการเจริญพันธุ์ เพื่อผู้หญิงยุคใหม่ และคู่สมรสที่ปรารถนาอยากมีบุตรที่สมบูรณ์ แข็งแรง มาเติมเต็มความสุขของครอบครัว จากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่มีประสบการณ์ด้านการให้บริการทางการแพทย์ผู้มีปัญหามีบุตรยากมากกว่า 23 ปี

ขณะเดียวกัน GFC มีการนำเทคโนโลยี Early Embryo Viability Assessment (EEVA) ซึ่งเป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทยในปี 2563 โดยได้พัฒนาให้สามารถแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับตัวอ่อน และวิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ทำให้อัตราการการทำเด็กหลอดแก้วประสบความสำเร็จสูง

วิสัยทัศน์การบริหาร -เป้าหมายผู้นำอาเซียน

นายกรพัส กล่าวว่า บริษัทวางวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม และด้วยศักยภาพจุดแข็งทางธุรกิจ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จของ“GFC” ที่จะมุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ดีที่สุด ภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

นอกจากนี้ จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2560 ถึงพ.ศ. 2569) ของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) จะยิ่งส่งผลกระทบเชิงบวกและเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัท “GFC” จากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากรวมถึงชาวต่างชาติในอนาคต

“ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้น และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคู่สามี-ภรรยายุคใหม่ทั่วโลก  จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ทำให้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เข้ามามีบทบาทกับคู่สามี-ภรรยาในปัจจุบันมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญที่การตอบโจทย์ของกลุ่มผู้ที่มีบุตรยาก “ นายกรพัส กล่าว

สำหรับรายได้ของบริษัท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 13.37 อัตราส่วน ROE และอัตราส่วน ROA สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงกว่าค่าเฉลี่ย และสูงสุดถึงร้อยละ 72.29 ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เป็นสัดส่วนหลักร้อยละ 80 โดยปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 275.91 ล้านบาท ขณะที่งวด 3 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ 86.11 ล้านบาท