HoonSmart.com>>บลจ.กสิกรไทย แนะลงทุน “หุ้นสหรัฐฯ” หลังประธานเฟด ส่งสัญญาณในงานประชุม Jackson Hole ชี้ถึงเวลาลดดอกเบี้ยแล้ว ตลาดคาดเริ่มก.ย.นี้ รวม 3 ครั้งในปีนี้ หนุนการลงทุนตราสารหนี้-สินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป คงน้ำหนักลงทุน “Overweight” หุ้นสหรัฐฯ แนวโน้มกำไรบจ.เติบโตแกร่ง แนะทยอยสะสมกองทุน K-USA ส่วนตราสารหนี้ มองอัตราผลตอบแทนยังสูง แนะ 3 กองทุนให้เลือก ” K-SFPLUS, K-PLAN1, K-FIXEDPLUS”
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เผยมุมมองการลงทุน หลังประธาน Fed ย้ำชัดที่ Jackson Hole “ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับลดดอกเบี้ย” โดยถ้อยแถลงดังกล่าว ทำให้นักลงทุนยังคงคาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย.นี้ และจะปรับลดทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้ โดยอาจจะมี 1 ครั้งที่ปรับลด 0.50% ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯต่างปิดบวกดี หลังการประชุมในวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลงมาที่ 3.81% เป็นภาพของภาวะตลาด Risk-on หนุนสินทรัพย์เสี่ยง
บลจ.กสิกรไทยมองว่า ทิศทางการลดดอกเบี้ยของ Fed มีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย.นี้ จากการส่งสัญญาณของประธาน Fed ในการประชุม Jackson Hole เนื่องมาจากการอ่อนแอลงของตัวเลขจ้างงาน และเงินเฟ้อกำลังเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ซึ่งเป็นภาพที่หนุนการลงทุนในตราสารหนี้ และสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป
บลจ.กสิกรไทย ยังแนะนำสัดส่วนการลงทุนที่ Overweight สำหรับหุ้นสหรัฐฯ จากแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนที่สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แม้ว่าในระยะสั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจผันผวนได้เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดี เนื่องจากปัจจุบันคะแนนนิยมระหว่างทรัมป์และแฮร์ริสยังค่อนข้างสูสีกันอยู่ มองว่าเป็นโอกาสในการทยอยสะสม K-USA จากธุรกิจเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตสูง โอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวกับกองทุนหุ้นสหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังแนะนำลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ที่แม้ว่าอัตราผลตอบแทน (Yield) จะปรับลดลงมาแล้ว แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต สามารถทยอยสะสมตามความเสี่ยงและระยะเวลาที่ถือครองได้
กองทุนตราสารหนี้ แนะนำ ดังนี้ K-SFPLUS (ลงทุนอย่างน้อย 3-6 เดือน) กองทุน K-PLAN1 (ลงทุนอย่างน้อย 9-12 เดือน) และกองทุน K-FIXEDPLUS (ลงทุนอย่างน้อย 1-1.5 ปี)
ทั้งนี้ สำหรับประเด็นสำคัญจากการถ้อยแถลงของประธาน Fed ในการประชุมประจำปีที่ Jackson Hole ในวันที่ 22 – 24 ส.ค. 2567
Policy: ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับลดดอกเบี้ย (the time has come for policy to adjust) แต่กำหนดเวลา และขนาดของการปรับลดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่จะเข้ามาเพิ่มเติม มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นสำคัญ
Inflation: อัตราเงินเฟ้อกำลังจะกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน
Employment: ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไป ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ
Balance of Risks: ยังคงมุ่งที่จะรักษาความสมดุลของความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน คือเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ ขณะที่ไม่ต้องการที่จะเห็นตลาดแรงงานอ่อนแอลงกว่านี้ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน มีภาพที่เปลี่ยนไปจากช่วงก่อนหน้า โดยความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อได้ปรับลดลงมาแล้ว ขณะที่ความเสี่ยงในตลาดแรงงานปรับเพิ่มขึ้น