“เอไอเอส” ยกระดับภัยไซเบอร์ บล็อคเว็บเสี่ยง-ดึงประกันร่วม

HoonSmart.com>>เอไอเอส เปิดผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลคนไทย เด็ก-เยาวชน วัยเกษียณ ส่อตกเป็นเหยื่อสูงสุด ประกาศยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้มข้น ส่งเจ้าหน้าที่อบรมนักเรียนเพิ่มภูมิ ติดตั้งระบบกรองเว็บอันตราย ดึงประกันภัยร่วมคุ้มครองความเสียหาย เคลมได้สูงสุด 5 หมื่นบาท

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย การป้องกันภัยไซเบอร์กลายเป็นประเด็นที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ทำให้การทำงานของ AIS ในฐานะผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่มุ่งส่งเสริมการใช้งานออนไลน์ที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งในมุมของการสร้างภูมิปัญญาหรือ Wisdom ที่จะนำไปสู่การสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ และในมุมของการใช้ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีมาส่งมอบเครื่องมือปกป้องภัยไซเบอร์และมิจฉาชีพที่แฝงมากับการใช้งานออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ

โดยในปีที่ผ่านมา AIS ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการ ได้เปิดตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index ฉบับแรกของไทยที่ทำให้เห็นถึงระดับทักษะการรับรู้และความเข้าใจการใช้งานดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่คนไทยยังคงต้องพัฒนาทักษะความรู้เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหยิบเอาผลการศึกษาไปต่อยอดในการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ได้ตรงกลุ่มอายุ อาชีพ หรือแม้แต่พื้นที่อย่างสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน

เด็ก-สูงวัย เสี่ยงถูกหลอกสูงสุด
สำหรับปี 2567 ได้ลงพื้นที่สำรวจ 77 จังหวัด รวม 50,965 คน ทุกอายุ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ผลการศึกษาก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนผลในภาพรวมอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยเกินครึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร อาทิ การไม่มีความรู้ความเข้าใจการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์, การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน, การใช้ วันเดือนปีเกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่านซึ่งง่ายต่อการคาดเดา แม้แต่การไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงค์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น

สุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ปี 2567 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ “พื้นฐาน” แต่เมื่อพิจารณาแต่ละระดับ พบว่า ส่วนใหญ่ 46.01% อยู่ใน “ระดับพื้นฐาน” แต่ยังมีถึง 18.47% ที่อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น

ผู้ที่มีอาชีพพนักงานของรัฐมีระดับดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลในภาพรวมสูงที่สุด (0.78) รองลงมาคือ อาชีพรับราชการ (0.67) นักเรียน/นักศึกษา (0.59) และข้าราชการบำนาญ (0.47) โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน ส่วนผู้ที่ว่างงาน (0.42) พนักงานบริษัทเอกชน (0.41) ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (0.38) รับจ้างทั่วไป (0.33) รัฐวิสาหกิจ (0.31) และเกษตรกร (0.24) อยู่ในระดับต้องพัฒนา

“กลุ่มที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลอยู่ในระดับสีแดง จะอยู่ในวัย 10-15 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน เพื่อให้ใช้งานได้ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งปี 2567-2568 เอไอเอส ประกาศยกระดับสร้างทักษะของคนไทยด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์”นางสายชล กล่าว

บล็อคเว็บอันตราย
นางสายชล กล่าวว่า นอกจากจะทำการส่งเสริมทักษะความรู้ และพัฒนาเครื่องมือปกป้องการใช้งาน วันนี้ได้พัฒนาเครื่องมือ “Digital Health Check” เพื่อให้คนไทยสามารถวิเคราะห์และประเมินทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง พร้อมทั้งแนะนำช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ลูกค้าและคนไทย

นอกจากนี้ ลูกค้าสามารถสมัครใช้งาน AIS Secure Net ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อบล็อคไม่ให้เข้าถึงเว็บอันตรายได้ เพียงกด *689*6# รวมถึงการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย บริการ Secure Net+ Protected by MSIG ชูจุดเด่นปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส มัลแวร์ เว็บไซต์ปลอมหลอกลวง พร้อมแถมประกันภัยเพอร์ซัลนัลไซเบอร์ จาก MSIG ที่มอบความคุ้มครอง สูงสุด 50,000 บาท ในราคาสุดคุ้มเดือนละ 39 บาทเท่านั้น สมัครง่ายๆ เพียงกด *689*10# โทรออก

ผู้ที่สนใจตรวจเช็กสุขภาวะทางดิจิทัลของตัวเอง ได้ที่ https://digitalhealthcheck.ais.th

ดึงประกันคุ้มครองเบี้ย 39 บาท
นายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าธุรกิจโมบาย และสินค้าคอนซูเมอร์ AIS กล่าวว่า ประกันภัยเพอร์ชัลนัลไซเบอร์ Secure Net+ Protected by MSIG เป็นการยกระดับและเพิ่มทางเลือกจากบริการ AIS Secure Net โดย แผนประกันภัยคุ้มครองจาก MSIG ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาท ภายในระยะเวลา 12 เดือน เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการเข้าถึงเว็บไซต์อันตรายหรือหลอกลวง และยังคุ้มครองจากภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมการใช้ดิจิทัลให้มีความเหมาะสมและสร้างสรรค์ เป็นโครงข่ายอัจฉริยะที่มีปลอดภัยในทุกการใช้งาน

นายรัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทาง MISIG รู้สึกดีใจที่ได้ผนึกกำลังกับทาง AIS มอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพอร์ชัลนัลไซเบอร์ที่ตอบโจทย์ป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์รายแรกที่มีการประกันภัยไซเบอร์จากการใช้โทรศัพท์ โดยนำรูปแบบมาจากบริษัทแม่ที่เปิดรับประกันภัยไซเบอร์ทางโทรศัพท์มือถือที่สิงคโปร์

สำหรับบริการ Secure Net+ Protected by MSIG เป็นบริการประกันภัยที่มอบความคุ้มครอง
จากภัยคุกคามทางไซเบอร์ไม่ว่าจะเป็นไวรัส มัลแวร์ หรือเว็บไซต์หลอกลวง ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 50.000 บาทที่มอบความคุ้มครองใน 4 ภัย คือ การถูกโจรกรรมเงินออนไลน์ คุ้มครองตามจริงแต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท จากการถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล คุ้มครองไม่เกิน 5 หมื่นบาท คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการกู้คืนข้อมูลที่ถูกโจมตีทาไซเบอร์ ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท ความเสียหายจนากการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ที่ไม่ได้รับสินค้า 2.5 หมื่นบาท แต่ไม่รวมการซื้อของจากเวบปลอม แต่เมื่อรวมทั้ง 4 ภัยแล้ว จะเคลมได้สูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท

คดีออนไลน์เสียหายร่วม 7 หมื่นล.
พล.ต.ต. ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (สอท.1) เปิดเผยว่า คดีแจ้งความออนไลน์ยอดสะสมตั้งแต่ 1 มี.ค.2565-31 ก.ค.2567 มีจำนวน 612,603 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 69,186 ล้านบาท สถิติการถูกหลอกในโลกออนไลน์สูงสุด 5 อันดับแรก คือ หลอกซื้อของแล้วไม่ได้ของ 44.08% ตามด้วยหลอกให้ทำกิจกรรม หลอกกู้เงิน หลอกให้ลงทุน ข่มขู่ทางโทรศัพท์ และอื่นๆ โดยมีการขออายัด 463,399 บัญชี ยอดเงิน 39,754 ล้านบาท อายัดได้ทัน 7,428 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้ เพราะต้องรอให้คดีสิ้นสุดก่อน