ชี้ทางรอดล้มละลาย 5 บริษัทกลุ่ม STARK ร้องศาลปกครอง ถอนคำสั่งอายัดทรัพย์

HoonSmart.com>>เชื่อหรือไม่? บริษัทในกลุ่ม “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)” ยังสามารถดำเนินธุรกิจตามปกติได้  ยังสามารถจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน และซื้อขายสินค้าได้ หลังจากบอร์ดก.ล.ต.มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์ทุกประเภท เป็นเวลา 180 วัน ถ้าหากใครทำลาย ย้ายหรือโอนไป จะมีความผิดทางอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 2 แสนบาท สำหรับทรัพย์สินของบุคคลและนิติบุคคลรวม 10 รายที่มีหลักฐานน่าเชื่อว่ากระทำความผิดคดี STARK ตามพรบ.หลักทรัพย์ฯ

“ความไม่ชัดเจนของคำสั่งอายัดทรัพย์สิน”ทำให้ธุรกิจของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอดจ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) หรือ PDITL บริษัทอดิสรสงขลา บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัทไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล (TCI) ปั่นป่วนหนัก

ยกตัวอย่าง ลูกค้ารายใหญ่ของเฟ้ลปส์ ดอดจ์ ฯ ราย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่นำลวดทองแดงขดใหญ่หนักร่วม 800 ตัน มาวางไว้ที่บริษัท เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสายไฟตามสัญญาจ้างผลิต  ขนของกลับแทบจะไม่ทัน ซัพพลายเออร์ก็เริ่มตีจาก พนักงานร่วม 4,000 คนของ 4 บริษัทลูก ตื่นตระหนก กลัวว่าจะไม่ได้รับเงินเดือนเพื่อนำไปใช้ในครอบครัวร่วม 1 หมื่นคน สถานการณ์แย่ขนาดนี้ บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจตามปกติได้อย่างไร

ก.ล.ต.ออกแถลงการณ์ว่าคำสั่งนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ในการปิดกิจการ แต่บริษัทถูกตัดแขนตัดขาขนาดนี้จะอยู่ต่อไปไหวไหม

ก่อนที่คำสั่งอายัดทรัพย์จะออกมาเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2566 เชื่อว่า ก.ล.ต.จะต้องทำงานอย่างหนัก และพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง   เช่น ส่งทีมตรวจเข้าไปดูแลความเคลื่อนไหวของรายการทรัพย์สิน และบัญชี เพื่อเปิดทางให้มีการเบิกถอนเงินเฉพาะส่วนที่จำเป็น เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และการดำเนินธุรกิจตามปกติ  แต่ในคำสั่งอายัดทรัพย์ครั้งนี้ กลับไม่ได้ระบุรายละเอียดชัดเจน ว่ารายการไหนหรือบัญชีไหนบ้างที่ถูกอายัด  ซึ่งหมายความว่าบริษัทจะทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้เลย  จึงเป็นที่มาของพนักงานนับร้อยคนมา”ขอความชัดเจนจากก.ล.ต.” เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2566ที่ผ่านมา  ซึ่งได้รับคำตอบจากผู้บริหารระดับสูงของก.ล.ต. ว่าทำได้

อยากท้าพิสูจน์ให้พนักงานของบริษัทในกลุ่ม STARK พาผู้บริหารก.ล.ต.ไปเบิกถอนเงินจากธนาคารดูซิ ว่าจะได้เงินมาไหม เชื่อว่าธนาคารคงไม่กล้าปล่อย เพราะคำสั่งไม่มีความชัดเจน และโทษหนักถึงอาญา

หากบริษัทไม่ได้เงินมาหมุนเวียนในธุรกิจขนาดใหญ่  พนักงานทำงานไม่ได้เงินเดือน เครื่องจักรต้องหยุดผลิต เชื่อว่าบริษัทจะเข้าขั้นวิกฤตในไม่ช้าและล้มละลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ไม่อยากให้ถึงช่วงเวลานั้นเลย เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย บุคคลใดทำผิดตกแต่งบัญชี ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหลอกนักลงทุน ขอให้อายัดทรัพย์สินและลงโทษให้ถึงที่สุดโดยเร็ว

สำหรับทางออกเฉพาะหน้า  นักกฎหมายแนะนำว่า ทางบริษัท สตาร์คฯ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอดจ์ ฯ บริษัท อดิสรสงขลา บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งฯ และบริษัทไทยเคเบิ้ลฯ นิติบุคคลที่ถูกคำสั่งอายัดทรัพย์สิน จะต้องไปยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว ที่ศาลปกครองกลาง เพราะคำสั่งอายัดของบอร์ดก.ล.ต.เป็นคำสั่งทางปกครอง สามารถให้เหตุผลว่าคำสั่งอายัดทรัพย์สินเกิดขึ้น เพราะพบการกระทำผิดของบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลเลย  หรือร้องขอให้ศาลพิจารณาให้บริษัทสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงาน รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟและเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจปกติ  เชื่อว่าน่าจะมีทางออกที่ดีกว่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนกอบกู้สถานการณ์กลับมาไม่ได้

ขณะเดียวกันให้พนักงานของบริษัทเหล่านี้ไปกระทรวงแรงงาน ร้องขอความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง เชื่อว่าน่าจะได้รับความเห็นใจ เพื่อให้บริษัทจ่ายเงินเดือนได้ตามปกติ

ด้านนายเสรี ยุทธนาวราภรณ์ ที่ปรึกษา อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเฟ้ลปส์ ดอดจ์ฯ กล่าวว่า บริษัท เฟ้ลปส์ ดอดจ์ ฯเป็นผู้ผลิตสายไฟรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน มียอดขายประมาณ 1 หมื่นล้านบาท/ปี  ผลงานมีกำไร มีพนักงานประมาณ 1,000 คน ไม่รวมกับบริษัทในกลุ่มอีก 3 แห่ง ที่มีพนักงานประมาณ 1,000 คน/บริษัท หากยังคงให้ทำงานตามปกติ เชื่อว่าบริษัทยังคงมีกำไรได้ โดยไม่กลัวเรื่องภาพลักษณ์ที่เสียหายหนักจะกระทบต่อธุรกิจ  เพราะเฟ้ลปส์ ดอดจ์ฯผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ  มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีงานในมือมูลค่าถึง 8,000 ล้านบาท

นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือห้นใหญ่ STARK ออกแถลงการณ์ว่า คำสั่งอายัดทรัพย์สินของบริษัทในกลุ่ม ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจของ STARK หยุดชะงักไปต่อไม่ได้ ต้องหยุดการผลิต พนักงานเดือดร้อน ถูกคู่ค้าขึ้นแบล็คลิสต์ กิจการอาจต้องล้มละลาย จ่อโดนฮุบกิจการในราคาถูก ๆ ไม่มีเงินไปคืนผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้

“การอายัดทรัพย์บริษัทที่ยังประกอบธุรกิจอยู่  ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าบริษัทพวกนี้จะไปต่ออย่างไร จะจ่ายเงินเดือนพนักงาน-ซัพพลายเออร์ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ต้องหยุดโรงงานไป 180 วันแล้วจะผิดสัญญาส่งมอบสินค้าหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีของเฟล้ปส์ดอด์จขายสายไฟให้การไฟฟ้า หากผิดสัญญา ส่งของไม่ได้ต้องถูกแบล็คลิสต์แล้วจะไปต่ออย่างไร”

คนกลุ่มแรกที่เดือดร้อนโดยตรงคือ พนักงานบริษัทที่ต้องถูกลอยแพ และคู่ค้าที่วางบิลไปแล้ว หรือ ผลิตของ ส่งของให้ แต่ยังไม่ได้เงิน พนักงานจะได้รับเงินเดือนสิ้นเดือนนี้หรือไม่ คงต้องเตรียมหางานใหม่ และคู่ค้าก็คงเลิกคบ

ถัดมา คือ แบงก์ที่ปล่อยกู้ เฟล้ปส์ ดอด์จ ซึ่งก่อนหน้านี้ แบงก์กำลังเจรจากับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ค้ำประกันหนี้ไว้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีแผนจะนำ เฟล้ปส์ ดอด์จ เข้าฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อต่อลมหายใจในระหว่างที่ขายกิจการต่างๆ ทั้ง  STARK และของ เฟล้ปส์ ดอด์จ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่เมื่อถูกอายัด แปลว่าจะไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ จะกู้เงินมาเดินเครื่องโรงงานก็ไม่ได้ เพราะถ้ารอ 180 วันครบเวลาอายัดทรัพย์ บริษัทพวกนี้ก็จะกลายเป็นซากกิจการ โดนแบล็คลิสต์โดยการไฟฟ้าไปเรียบร้อย

“จากแผนเดิมที่จะขายทรัพย์สินทั้ง STARK และ เฟล้ปส์ ดอด์จ บวกกับหาอัศวิน white knight เข้ามาซื้อกิจการ นอกจากกิจการไปต่อได้ ยังน่าจะได้เงินมาจ่ายคืนผู้ถือหุ้นกู้บ้างไม่มากก็น้อย แต่คำสั่งอายัดทรัพย์สิน ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจของ STARK หยุดชะงักไปต่อไม่ได้”