แอสเซท พลัส ส่งกองทุน ASP-EVOCHINA รับศก.จีนใหม่

บลจ.แอสเซท พลัส ส่งกองทุนเปิด แอสเซทพลัส อีโวลูชั่น ไชน่า อิควิตี้ คว้าโอกาสรับผลตอบแทนจากหุ้นจีน เชื่อการวิวัฒน์เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ หนุนแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตในอนาคต เสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันนี้-2 พ.ย. 2561 ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท

นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า ประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ สะท้อนให้เห็นจากการวิวัฒน์ทางภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิเช่น การเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Greater Bay Area รวมถึงการสนับสนุนจากนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศจีนเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

บลจ. แอสเซท พลัส จัดตั้งกองทุนเปิด แอสเซทพลัส อีโวลูชั่น ไชน่า อิควิตี้ (ASP-EVOCHINA) เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ที่สนใจกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นประเทศจีน โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนตราสารทุน ระดับความเสี่ยง 6 มีนโยบายเน้นการลงทุนในตราสารทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือมีธุรกิจหลักในประเทศจีนที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยสามารถผสมผสานทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นจีนโดยตรง ผ่านการคัดเลือกหุ้นรายตัวของผู้จัดการกองทุน

บลจ.แอสเซท พลัส ลงทุนผ่านหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศและลงทุนในกองทุน ETF ที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีน มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามความเหมาะสมซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน1 ทั้งนี้ กองทุน ASP-EVOCHINA มีมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท กำหนดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันนี้-2 พ.ย.2561 ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท ภายหลัง IPO ทุกวันทำการซื้อขายของกองทุน2 ตั้งแต่เวลาเปิดทำการ จนถึง 15.30 น.

นายรัชต์ กล่าวต่อว่า เรามองว่าจีนกำลังวิวัฒนาการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ จากการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วย 2 เป้าหมายหลัก คือ การผลักดันให้ประเทศจีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำนวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจจากประเทศอุตสาหกรรมการผลิต สู่ภาคงานภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม จากเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี โดยมีการลงทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นเงินกว่า 255 พันล้านดอลลร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 55.98% ของ GDP ประเทศไทย (Source: National Bureau of Statistics of China 2018,) จากการสนับสนุนดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีจำนวนนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม นักวิจัยของประเทศจีนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก อีกทั้งยังมีจำนวนการยื่นจดสิทธิบัตรและจำนวนการตีพิมพ์เอกสารทางด้านการวิจัยในปี 2018 มากที่สุดในโลก จากผลการสนับสนุนดังกล่าว จีนเริ่มก้าวเข้ามาเป็นผู้มีอิทธิพลในด้านเทคโนโลยี โดยในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทเทคโนโลยีของจีนหลายบริษัท ก้าวขึ้นสู่การเป็นบริษัทชั้นนำของโลก

นอกจากนั้นจีนยังมีบริษัท Start-up เกิดขึ้นอีกมากมาย โดยในปี 2018 มีบริษัท Start-up สัญชาติจีน ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือที่เรียกว่า”Unicorn” เกิดขึ้นกว่า 17 บริษัท ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจาก สหรัฐอเมริกา (Source: https://www.cbinsights.com/research-unicorn-companies) นอกจากการให้ความสำคัญทางด้านนวัตกรรมแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายผลักดันแบรนด์ Made in China ให้เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจของจีน จากการเป็นประเทศอุตสาหกรรมผู้ผลิต หันมาให้ความสำคัญกับการสร้าง Brand เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่เป็นเมืองแห่งการเลียนแบบเป็นเมืองแห่งการพัฒนาที่มีสินค้าและบริการของตนเอง

รัฐบาลจีนมุ่งเน้นที่จะพัฒนานวัตกรรมตาม Roadmap “Made In China 2025” ซึ่งเป็นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตของจีนใหม่อย่างสิ้นเชิง จากการผลิตที่เน้นปริมาณสู่การผลิตที่เน้นคุณภาพ กระตุ้นให้เกิดงานด้านการบริการที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ภาคแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงมีกำลังซื้อที่มากขึ้น ซึ่งเป็นแรงหนุนให้ภาคการอุปโภคบริโภคให้เติบโต สะท้อนให้เห็น ถึงการจ้างงานที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผลผลิตจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นในพัฒนาการของเขตพิเศษเศรษฐกิจใหม่ หรือที่เรียกว่า “Greater Bay Area” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเมืองสำคัญในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ควบรวมฮ่องกง มาเก๊า และมลฑลกวางตุ้ง ประกอบไปด้วย 11 เมืองสำคัญ ที่จะเป็นย่านศูนย์การค้าและสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น มีส่วนทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมีผลทำให้ขนาด GDP ของมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) ขยายตัว คิดเป็น 10.87% ของ GDP ประเทศจีน ซึ่งสูงที่สุดในบรรดา 31 มณฑลของจีน (ข้อมูล ปี 2017)

ทั้งนี้จากการพัฒนาดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลพื้นฐานของตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโต (Source: Bloomberg as of 25 Sep 2018) ส่งผลให้เราเชื่อว่า ประเทศจีนมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต จากการวิวัฒนาการเข้าสู่ยุคใหม่ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับการถูกกีดกันทางการค้าของสหรัฐ รัฐบาลจีนก็มีเครื่องมือด้านนโยบายจำนวนมาก ที่จะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมาย การเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ

ในปัจจุบันตลาดยังคงมีความผันผวนจากการเก็งกำไรระยะสั้นของผู้ลงทุนรายย่อยจึงเหมาะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถรับความผันผวนของตลาดหุ้นในต่างประเทศได้สูงและพร้อมสำหรับการลงทุนในระยะยาวเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต