ยังไงก็ต้องมองเป็นข่าวดีไว้ก่อนกับข่าว คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 อนุมัติหลักการการปรับปรุงมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อเพิ่มแรงจูงใจของการลงทุนในกองทุนรวมไทย เพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ซึ่งกรมสรรพากร ก็รับลูกทันทีด้วยการประชาสัมพันธ์ ร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ….)ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่การลงทุนใน Thai ESG เฉพาะหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 69 ดังนี้
1. เพิ่มวงเงินการหักลดหย่อน เดิม สามารถหักลดหย่อนได้ ไม่เกิน 30% ของเงินพึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เป็น ใหม่ สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินพึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
2. ลดระยะเวลาถือหน่วยลงทุน เดิม ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 8 ปี และถ้าถือหน่วยลงทุนไว้ครบ 8 ปี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ Capital Gains จากการขายหน่วยลงทุนคืน ใหม่ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีและถ้าถือหน่วยลงทุนไว้ครบ 5 ปี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ Capital Gains จากการขายหน่วยลงทุนคืน
ตามกฎหมายใหม่ที่ปรับปรุงนี้ เท่ากับเพิ่มวงเงินสำหรับการออมและการลงทุนที่ลดหย่อนภาษีได้ จากเดิมมีแค่ 700,000 บาท ได้แก่
1. วงเงินเพื่อเกษียณอายุ 500,000 บาท ได้แก่ กบข. , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, RMF, ประกันบำนาญ และ SSF (ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนการออมไม่เกี่ยวกับเกษียณเลย) เป็นต้น
2. วงเงินสำหรับประกันชีวิตแบบปกติ 100,000 บาท
3. วงเงินสำหรับ TESG อีก 100,000 บาท ตามกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ วงเงินนี้เพิ่มเป็น 300,000 บาท
สรุปตอนนี้วงเงินสำหรับการออมและการลงทุนที่ลดหย่อนภาษีได้ ก็จะอยู่ที่ 900,000 บาท ซึ่งคนที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มเพดานต้องมีเงินได้อย่างต่ำ 1 ล้านบาท ฐานภาษีอัตราสูงสุดก็จะอยู่อย่างต่ำที่ 25% เท่ากับประหยัดภาษีที่ต้องเสียสูงถึง 25% * 900,000 = 225,000 บาท ไม่น้อยเลยนะ
และสำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนขยายขอบเขตให้ครอบคลุมหุ้นที่อยู่ในดัชนีESG ที่ได้รับความเชื่อถือ ในระดับสากลกับบริษัทจดทะเบียนที่มีระดับการประเมิน CG Rating ของ IOD ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป และมีการเปิดเผยข้อมูลด้านบรรษัทภิบาล (G) เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการลงทุนให้มากขึ้น ดังนี้
(1) กองทุนสามารถลงทุนในหุ้นที่มีมาตรฐาน ESG ตามการประเมินขององค์กรที่หลากหลายขึ้น เพิ่มเติมจากการอ้างอิง SET ESG ratings เพื่อเป็นทางเลือกให้บริษัทจัดการสามารถใช้อ้างอิงในการลงทุน ทั้งนี้ องค์กรดังกล่าวต้องมีมาตรฐานการประเมินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
(2) เพิ่มทางเลือกให้กองทุนสามารถลงทุนในหุ้นที่มีบรรษัทภิบาลในระดับดีเลิศ มีการเปิดเผยเป้าหมายและแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (corporate value up plan) มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผน มีแผนยกระดับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการสื่อสารการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวกับผู้ลงทุนอย่างน้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
แต่หลายคนก็มองว่าจะคุ้มเหรอกับการขาดทุน เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยก็ให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าพอใจเอาซะเลย เพราะหากเราลงทุนเมื่อ 5 ปีที่แล้วในดัชนีตลาดหุ้น วันนี้เราขาดทุนไปแล้วประมาณ 16% แปลง่ายว่า หากอดีตบอกอนาคตจริงๆด้วยระยะเวลาที่ถือ 5 ปีเท่ากัน ถ้าเราประหยัดภาษีไม่เกิน 16% ผลตอบแทนสุทธิที่เราได้ คือ ขาดทุน
แต่อดีตก็ไม่ได้บอกอนาคตเสมอไปนะ 5 ปีก่อนเราเริ่มด้วย Covid19 แต่ 5 ปีถัดจากนี้เราเริ่มด้วยจุดที่แย่ที่สุดขณะที่แนวโน้มการลงทุนในหุ้นมีสัญญาณที่ดีจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก จึงอาจเป็นโอกาสในวิกฤติก็ได้ แม้กองทุน TESG จะขาดความหลากหลายด้านภูมิศาสตร์ คือลงทุนได้เฉพาะในไทย แต่มีความหลากหลายด้านสินทรัพย์ที่ลงทุน คือ หากเรากลัวว่าจะขาดทุนหุ้นอีก เราก็มีทางเลือกอื่นให้ลงทุน เพราะนโยบายการลงทุนของ Thai ESG ไม่ได้กำหนดให้สามารถลงทุนแค่ในหุ้นไทย เราสามารถลงทุนในตราสารหนี้ไทยที่เรียกว่า ESG Bond ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับตราสารหนี้ปกติทั่วไป ต่างกันที่วัตถุประสงค์ของการระดมทุนที่ต้องการนำเงินไปใช้เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) สังคม (Social Bond) และความยั่งยืน (Sustainability Bond) ได้เช่นกัน
สรุปง่ายๆ ก็คือ กองทุน TESG ถือเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี เหมือนภาครัฐการันตีผลตอบแทนล่วงหน้าให้เราส่วนหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม “ของฟรีไม่มีในโลก” เมื่อสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็จะต้องมีบทลงโทษหากผิดเงื่อนไข คือ ขายคืนก่อนครบ 5 ปีบริบูรณ์ ต้องคืนภาษีย้อนหลัง 5 ปี และต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5%/เดือนของภาษีที่ต้องคืน ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าถือได้ครบ 5 ปี หรือ คิดว่ากำไรแน่ๆแล้ว อยากขายคืนล็อคกำไร ก็ต้องคิดเรื่องคืนภาษีกับเงินเพิ่มไว้ด้วยนะ และที่สำคัญ เงื่อนไขถือครบ 5 ปีให้เฉพาะเฉพาะหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 69 เท่านั้น แปลว่าหน่วยลงทุนที่ซื้อปีที่แล้วและหน่วยลงทุนที่ซื้อหลังปี 2569 ต้องถือครบ 8 ปีเหมือนเดิมนะ