HoonSmart.com >> เปิดสัญญาบล็อกเทรด หุ้นใหญ่ หุ้นดัง มีโอกาสไปวนให้ยืมขายชอร์ต ฝากโบรกเกอร์ ลั่น ! โบรกเกอร์ที่ทำสัญญาบล็อกเทรด เป็นเจ้าของสิทธิ์เต็ม 100% หุ้นอ้างอิง จึงมีสิทธินำไปให้ยืมขายชอร์ต สวนทางกับนักลงทุนที่จ่ายดอกเบี้ย 3-5% ของมูลค่าหุ้นที่เปิดสัญญาบล็อก กลับถูกโบรกเกอร์นำหุ้นไปให้ยืมชอร์ต เสียหายถูกบังคับขาย
แหล่งข่าวจากนักลงทุน ให้ข้อมูลว่า หุ้นที่ทำสัญญาบล็อกเทรด มีทั้งหุ้นใหญ่ หุ้นดัง ที่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ตลาดหุ้นโงหัวไม่ขึ้นหรือไม่
พบข้อมูลน่าตกใจจากตลาด Tfex สถิติการซื้อขายรายใหญ่ ( Stock Futures Block Trade Report) พบ หุ้นใหญ่ ๆ มีผลต่อดัชนีตลาด ถูกเปิดสัญญาบล็อกไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหมายถึง พอร์ทโบรกเกอร์ต้องมีหุ้นเหล่านั้น เก็บเอาไว้เป็นสินค้าอ้างอิง และถ้ามีโบรกเกอร์โต๊ะบล็อกไหน คิดไม่ซื่อถล่มขายกินส่วนต่าง หรือเอาไปให้ยืมขายชอร์ต รับรองตลาดหุ้นไทยไม่พ้นแดนสนธยา
จากข้อมูลสถานะคงค้างบล็อกเทรด ณ วันที่ 19 กค 2567 ( 1 สัญญาเท่ากับ 1,000 หุ้น) ของหุ้นตัวอย่าง
อาทิ AOT จำนวน 47,395 สัญญาหรือ 47,395,000 หุ้น , BBL จำนวน 37,055 สัญญา หรือ 37,055,000 หุ้น , BDMS จำนวน 110,005 สัญญา หรือ 110,005,000 หุ้น , BTS จำนวน 150,000 สัญญา หรือ 150,000,000 หุ้น , CPF จำนวน 64,308 สัญญา หรือ 64,308,000 หุ้น
EA จำนวน 147,072 สัญญา หรือ 147,072,000 หุ้น , GULF จำนวน 71,884 สัญญา หรือ 71,874,000 หุ้น , KBANK จำนวน 19,249 สัญญา หรือ 19,249,000 หุ้น , PTT จำนวน 90,450 สัญญา จำนวน 90,450,000 หุ้น , WHA จำนวน 172,300 สัญญา หรือ 172,300,000 หุ้น ซึ่งหุ้นใหญ่ เหมาะกับทำบล็อกเทรด เพราะซื้อง่าย-ขายคล่อง เป็นที่นิยมของนักลงทุนรายใหญ่
จะเห็นว่า หุ้นใหญ่หุ้นดัง ถูกเก็บไว้กับพอร์ทโบรกเกอร์โต๊ะบล็อกเป็นจำนวนมาก ยังไม่นับที่โต๊ะบล็อกในฐานะผู้ดูสภาพคล่อง สามารถขายชอร์ตได้สบาย ๆ โดยไม่ต้อง ใช้เกณฑ์ up tick ก.ล.ต ตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการกำกับดูแลไม่ให้โต๊ะบล็อก เอาหุ้นเหล่านี้ ไปวนหากินซ้ำหรือไม่ หากหุ้นที่ทำบล็อค ถูกนำมาถล่มขาย จะส่งผลกระทบกับตลาดทันที
แหล่งข่าวโบรกเกอร์ กล่าวว่า การเปิดสัญญาบล็อกเทรด นักลงทุนใช้เงินสดเพียง 10% เท่านั้น ส่วนหุ้นอ้างอิง โบรกเกอร์จะซื้อหรือไม่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะซื้อหุ้นอ้างอิง เพื่อลดความเสี่ยง แต่ถ้าไม่ซื้อหุ้นอ้างอิง โบรกเกอร์จะรับความเสี่ยงนั้นเอง จะเห็นว่า ปัจจุบัน การเปิดสัญญาบล็อกของนักลงทุน ลดลงไปมาก เทียบกับ 2 ปีก่อนที่ภาวะตลาดหุ้นดี ๆ
“ หุ้นอ้างอิง ที่นักลงทุนเปิดสัญญาบล็อกไว้ จะเป็นการซื้อโดยโบรกเกอร์ที่นักลงทุนไปเปิดสัญญาไว้ โดยใช้เงินโบรกเกอร์เกือบ 100% ซื้อ ดังนั้น หุ้นอ้างอิงจึงเป็นสิทธิของโบรกเกอร์ทั้งหมด หากจะนำไปให้ยืมชอร์ต ก็ไม่ผิด เพราะมีหุ้นในมือไปให้ยืม ไม่ผิดกฎตลาด” โบรกเกอร์กล่าว
ขณะที่นักลงทุน กล่าวว่า เปิดสัญญาบล็อกเทรด วางเงิน 5-10% เท่านั้น แต่จ่ายดอกเบี้ย 3-5% ของมูลค่าหุ้นที่ซื้อ เช่น วันทำสัญญา 100 สัญญา หรือ 100,000 หุ้น ราคาหุ้นขณะนั้น 100 บาท เท่ากับมูลค่า 10 ล้านบาท จะเสียดอกเบี้ย 3-5% ของ 10 ล้านบาท
“ หลังเปิดสัญญาแล้ว นักลงทุนก็ไม่ได้สนใจ ว่าโบรกเกอร์มีหุ้นอ้างอิงหรือไม่ กระทั่งทำให้โบรกเกอร์นำหุ้นไปวน หากปิดสถานะไม่มีหุ้นจริง สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ ซึ่งโบรกเกอร์ที่ทำบล็อกเทรด มีไม่กี่ราย ส่วนใหญ่เป็นโบรกเกอร์ต่างชาติ “ นักลงทุนกล่าว
ทั้งนี้ตามเกณฑ์การทำบล็อกเทรด กำหนดว่า หน่วยงาน บล็อกเทรด ต้องทำการซื้อหรือขายหุ้นอ้างอิง เพื่อป้องกันความเสี่ยงแบบ Fully Hedging ทุกรายการ ก่อนทำรายการ SSF Block Trade รวมทั้งมีการติดตามความเสี่ยงของธุรกรรม SSF Block Trade ทุกสิ้นวัน ซึ่งหมายถึงถ้าสัญญาเปิดอยู่ทุกขณะ ต้องมีสินค้าอ้างอิง 100%