DIF ร่วง 2 วันข่าวลบสะพัด บลจ.ไทยพาณิชย์แจง5ข้อ

HoonSmart.com>> DIF ร่วง 2 วันซ้อน เฉียด12%  หลังกระแสข่าวหลายเรื่องสะพัดห้องค้า บลจ.ไทยพาณิชย์ชี้แจง 5 ประเด็น ด้านบล.เมย์แบงก์ ยังเชียร์”ซื้อ”ให้ปันผลสูงถึง 9% ในปีนี้-ราคาถูก ผู้บริหาร TRUE ยืนยันไม่ได้ขายหน่วย DIF วานนี้ (22 มิ.ย.)  บริษัทมีแผนที่จะปฏิบัติตามสัญญาเช่า ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องจ่ายมากขึ้นสำหรับหนี้สินที่มีอยู่จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท โดยใส่ไว้ในประมาณการปีนี้แล้ว

วันที่ 23 มิ.ย. 2566 กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF)  ทรุดลงเป็นวันที่สอง ร่วงไปต่ำสุดแตะ 10 บาท ก่อนเด้งขึ้นมาปิดที่ 10.60 บาท ติดลบ 0.20 บาทหรือ -1.85% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,475.40 ล้านบาท   จากวันก่อน DIF ร่วง 10% ปิดที่ 10.80 บาท ลดลง 1.20 บาท มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึง 1,970.94 ล้านบาท ปกติเปลี่ยนมือวันละร้อยล้านบาทเท่านั้น  รวม 2 วันราคาลดลง 1.40 บาท ไหลลง 11.67% เทียบกับราคาปิดที่ 12 บาท

DIF มีราคาและมูลค่าการซื้อขายมากผิดปกติ หลังมีกระแสข่าวสะพัดในห้องค้าหลักทรัพย์ว่า TRUE-DTAC จะปรับโครงสร้าง ไม่ต่อสัญญากับ DIF บางส่วน และจากการรวมค่ายไม่สามารถลดหนี้ของ TRUE ได้ ทั้งอาจจะเป็นหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงเงินกู้ของกองทุนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น

นางทิพาพรรณ ภัทรวิกรม Executive Director กลุ่มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์(บลจ.)ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการของ DIF กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของกองทุนรวมในเรื่องของการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนรวมกับกลุ่มผู้เช่าหลักของกองทุนรวม (กลุ่มทรู)นั้นยังเป็นไปตามสัญญาที่เปิดเผยต่อผู้ลงทุนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ส่วนที่มีประเด็นข่าวเกี่ยวกับกองทุนรวม DIFนั้นกองทุนรวมได้มีการนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนประจำปี 2566 และได้มีการเผยแพร่รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหน่วยลงทุน ประจำปี 2566ทางเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2566 เป็นต้นมา โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถดาวน์โหลดเอกสารของกองทุนรวม ได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทจัดการที่ https://www.scbam.com/medias/fund-doc/minutes_annual/DIF.pdf

ในการนี้ กองทุนรวมขอชี้แจงตามประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นโดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนประจำปี 2566
ดังนี้1. ผู้ถือหน่วย DIF จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 10% เพราะอายุครบ 10 ปีแล้ว ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงานการประชุม วาระที่ 1 คำถามที่ 5 และ วาระที่ 3 คำถามที่ 5

2. มีโอกาสที่ DTAC จะยกเลิกสัญญาเช่าเสากับ DIF ที่จะหมดอายุ 31 มี.ค.2567 ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงานการประชุม วาระที่ 1

3.การปรับโครงสร้างเงินกู้เป็นลอยตัว (Float rate) ทำให้ภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงานการประชุม วาระที่ 1 คำถามที่ 11

4. กองทุนต้องทยอยคืนหนี้สินกดดันการจ่ายปันผลผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงานการประชุม วาระที่ 2 คำถามที่ 3 และคำถามที่ 4

5. TRUE อาจยกเลิกการใช้ DIF ไปใช้เสา DTAC แทนผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงานการประชุม วาระที่ 1 คำถามที่ 3

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) แนะนำ”ซื้อ” DIF เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง(yield ปี66 ที่ 9%) และหน่วยลงทุนราคาถูก ขณะที่ราคาเป้าหมายอิงวิธี DCF ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 13.6 บาท(7.7% WACC, 3.0% TG) โดยราคาหน่วยลงทุน DIF ที่ลดลง ส่งผลให้ส่วนต่างผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 6.4% pt (เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 5.2%) และ P/NAV อยู่ที่ 0.67 เท่า(เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 0.89 เท่า) ณ ราคาตลาดหน่วยละ 10.8 บาท ประเมินว่า IRR ของ DIF เท่ากับ 10.5% โดยผู้บริหารของ TRUE ยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ขายหน่วย DIF ในวันที่ 22 มิ.ย. และบริษัทมีแผนที่จะปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่มีอยู่กับ DIF

ราคาหน่วยลงทุนของ DIF ลดลง 18% YTD (SET -9.5% YTD) จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นโดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้เป็น 2.00% จาก 1.25% ในวันที่ 30 พ.ย.65 โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น และต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นสำหรับหนี้สินที่มีอยู่จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามได้ใส่ดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก 1.1 พันล้านบาทในปี 65 (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 4.0%) เป็น 1.4 พันล้านบาทในปี 66 (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 5.2%) ไว้ในประมาณการแล้ว