EXIM BANK ตั้งสำรอง 60% กรณี EA-เฟ้ลปส์ ดอด์จ-JKN

HoonSmart.com>>EXIM BANK เผยตั้งสำรองหนี้สูญ EA-เฟ้ลปส์ ดอด์จ-JKN 60% จัดทีมตรวจสอบเพิ่มก่อนปล่อยกู้กันการซ้ำรอย คุม NPL แถว 4% จากสินเชื่อรวมปีนี้ที่ 1.85 แสนล้านบาท

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) กล่าวว่า จากการที่ธนาคารได้ปล่อยกู้ให้กับ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) 895 ล้านบาท บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) 1,700 ล้านบาท และ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) หลักสิบล้านบาท ที่มีปัญหาเรื่องการทุจริตของผู้บริหาร ถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้บริหาร แต่ธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินการตามปกติ แต่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของบริษัท ทำให้ถูกการลดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ เครดิต เรทติ้ง

แม้ธุรกิจของทั้ง 3 บริษัทฯยังเป็นปกติ มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง และยังจ่ายหนี้ตามปกติ แต่ธนาคารก็ได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้สูงถึง 60% ตามเกณฑ์ IFRS 9 หรือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ ซึ่งเป็นธนาคารรัฐแห่งเดียวในไทยที่มีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ IFRS 9 ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งการตั้งสำรองทำให้กำไรลดลง

อย่างไรก็ตาม กรณีข้างต้นไม่ใช่มีเพียง EXIM เท่านั้นที่เข้าไปปล่อยกู้ให้ แต่ธนาคารอื่นๆ ก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะมีหลายสถาบันปล่อยกู้ ในช่วงที่บริษัทฯดังกล่าวขอกู้ ข้อมูลดีหมด ผ่านการตรวจสอบบัญชีมาแล้ว ผ่านการจัดอันดับเครดิตมาแล้ว และในตอนนั้นตลาดก็ให้การยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ดี แต่สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นในภายหลัง ที่แม้แต่ผู้สอบบัญชียังตรวจไม่พบ

จากบทเรียนดังกล่าว ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ โดยมีการให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบเพิ่มเติม ทำการสอบยันในหลายๆ เรื่อง แม้จะเป็นการเสียมารยาทในทางธุรกิจ และถูกลูกค้าต่อว่าก็ต้องทำ ก่อนการปล่อยสินเชื่อใหม่ จากเดิมที่จะพิจารณาตามเอกสารที่นำเสนอ อันดับเครดิตที่ได้รับ และพิจารณาตามคำแนะนำของลีดเดอร์ที่ปล่อยกู้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น และใช้เวลาในการพิจารณานานขึ้นแต่ก็ต้องทำ

“จากการที่เราปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งธนาคารตั้งมา 30 ปี มีลูกค้าแค่ 5,000 ราย แต่มียอดสินเชื่อรวมเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีสินเชื่อรวม 1.85 แสนล้านบาท ถ้ารวมภาระค้ำประกันจะเกิน 1.9 แสนล้านบาท เมื่อบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นลูกหนี้มีปัญหา เราก็โดนด้วยไม่มากก็น้อย แต่ต่อไปจะเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้น ซึ่ง NPL ของธนาคารที่ 4% บวกลบ ในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ ถือว่าหล่อแล้ว แต่ที่น่ากลัวคือไม่รู้อนาคตจะเกิดเหตุการณ์เช่น 3 บริษัทข้างต้นอีกหรือไม่”ดร.รักษ์ กล่าวว่า