เอเซีย พลัสฯ แนะ 7 หุ้นเด่นรับ Q3 คาด SET เหนือ 1,350 จุด

HoonSmart.com>>เอเซีย พลัสฯ คัด 7 หุ้นเด่นได้อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ปันผลสูง หุ้นกู้ 5 ปีอัพ 9 บริษัท เข้าพอร์ต รับ SET ยืนเหนือ 1,350 จุด วางกรอบทั้งปีที่1,450-1,280 จุด ปัจจัยบวกดันจีดีพีปีนี้โต 2.6%

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) คาดตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3 เข้าสู่“NEXT LEVEL” มีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุดกลับมายืนเหนือ 1,350 จุดได้ วางกรอบทั้งปีที่1,450-1,280 จุด ซึ่งได้ปรับกรอบสูงสุดลงจากเดิมที่วางไว้เมื่อต้นปีที่ 1,570-1,580 จุด

ปัจจัยที่ทำให้คาดว่า หุ้นไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพราะเงินไหลออกเริ่มลดลง ปัจจัยภายนอกประเทศเริ่มผ่อนคลายลงจากความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ดอกเบี้ยโลกขาลงเริ่มชัดเจนจะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน หนุนให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพทยอยแข็งค่ามากขึ้น และความกังวลสถานการณ์การเมืองมีแรงกดดันลดลง หลังคดีความต่างๆ เริ่มเห็นถึงกระบวนการที่ชัดเจนขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจไทย BOTTOM OUT จากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ (G) ภาคการการลงทุน (I) รวมถึงภาคการบริโภค (C) คาดเป็นตัวช่วยให้ GDP GROWTH ไทยทยอยเติบโตเป็นขั้นบันได โดยทั้งปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คาด GDP GROWTH อยู่ที่ระดับ +2.6%YoY และจะยังมีแรงส่งให้เศรษฐกิจในปีหน้าเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปีนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าไทยจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจยังเติบโตต่อไปได้ อัตราเงินเฟ้อยังเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าลงทุน จาก
1.มุมกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 2Q67 ที่มีโอกาสเติบโตทั้ง YoY เด่น จากฐานกำไรงวด 2Q66 ที่ต่ำกว่าปกติ และทรงๆตัว QoQ พร้อมกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันยืนระดับสูงหนุนให้กำไรงวด 2Q67 มีโอกาสอยู่ในกรอบ 2.3 – 2.7 แสนล้านบาท
2.มุม Valuation SET จะเห็นแนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่บริเวณ 1,300 จุด มี PER67F ที่ 14.2 เท่า (-1SD ในรอบ 10 ปี) และเป็นระดับต่ำสุดรองจากช่วงวิกฤตโควิดปี 2563 ขณะที่ในเชิง PBV มีค่าที่ 1.2 เท่า (-2SD ในรอบ 10 ปี), Dividend Yield 3.5% (+1SD ในรอบ 10 ปี)
3.มาตรการสร้างความเชื่อมั่นของ ตลท. เริ่มจาก 1 ก.ค.67 ประกาศการใช้กฎ UPTICK RULE ทุกบริษัท ซึ่งลดการทำธุรกรรม SHORT SELL ได้อย่างมีนัยฯ บวกกับคาดหวังเม็ดเงินจาก THAIESG เงื่อนไขใหม่ ที่อาจไหลกลับเข้ามาหนุนตลาดหุ้น 6 – 7 หมื่นล้านบาท และหนุนให้กองทุนลดสถานะเงินสดและซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในพอร์ตช่วงเวลาที่เหลือของปี อีกทั้งมีกระแสการฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์ แบบการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำเพื่อพยุงตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำหุ้นพื้นฐานดี ได้เม็ดเงิน THAIESG ใหม่เข้ามาหนุน กับ 2 ธีมหลัก คือ 1.หุ้นได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ AOT, CK และ 2.หุ้นปันผลระหว่างกาลสูง SIRI, ADVANC, TTB, TU

แนะเก็บหุ้นกู้อายุ 5-7 ปี เพิ่ม

น.ส.ลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง บล.เอเซีย พลัส (ASPS) การคาดการณ์ Bond yield ไทยในไตรมาส 3 ยังคง Sideway Down ภาพรวมการลงทุนของตลาดตราสารหนี้ไทยยังไปได้ดี และเป็นที่ต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้ไทยที่มีอายุไม่ยาวมากและมีอันดับเครดิตตั้งแต่ Invesetment grade ขึ้นไป จะเห็นว่าในเดือน ก.ค.เริ่มเห็น Flow การเข้าซื้อหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA แสดงให้เห็นว่า สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.7% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นหลัก

ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 494,371 ล้านบาท โดย 95% เป็นการออกของหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade ส่วนอีก 5% เป็นกลุ่ม High yield ซึ่งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการออกของกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกันในสัดส่วนที่สูงถึง 81% สาหรับในครึ่งแรกปี 2567 สูงขึ้นจาก 48% ในปี 2566 และมีอายุการออกเฉลี่ยที่ 2.2 ปี ลดลงจาก 2.5 ปี ในปี 2566

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในครึ่งแรก ปี 2567 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยทั้งในไตรมาส 1 และ 2 รวมเป็นมูลค่าการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 66,514 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด ผนวกกับการที่พันธบัตรรัฐบาลของอินเดียได้ถูกรวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ J.P. Morgan (GBI-EM) ที่จะส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนในดัชนีลดลง

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ ภายใต้สภาวะตลาดดอกเบี้ยที่มียังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวลงในอนาคต คือ ทยอยสะสมซื้อหุ้นกู้โดยไม่ว่าเป็นการลงทุนผ่านตลาดแรกหรือตลาดรอง หรือลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมองว่าสามารถขยายอายุการลงทุนให้ยาวขึ้นได้ เช่น 5-7 ปี โดยหากปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเริ่มมีการลดอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนในตลาดปรับตัวลดลง หรือกล่าวได้ว่ามีโอกาสขายทำกำไรได้ในอนาคตนั่นเอง

ทำกำไรหุ้นต่างประเทศ

นายบำรุงพงษ์ ชีวธนากรณ์กุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในช่วงของครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้น พอร์ทคำแนะนำลงทุนของของฝ่ายกลยุทธ์ต่างประเทศของบริษัทฯให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 15.47% ซึ่งผลตอบแทนส่วนมากมาจากหุ้นในสหรัฐอเมริกา เช่น 7Magnificent, Semiconductor, Ai Theme แต่ก็มีอีกหลายตลาดที่ให้ผลตอบแทนดี ได้แก่ ญี่ปุ่น, อินเดีย และเวียดนาม

คำถามสำคัญคือ เวลาที่เหลือในปีนี้หุ้นกลุ่มเดิมแต่ยังคงเป็นผู้นำตลาดอีกหรือไม่

ถ้างบการเงินในตลาดหุ้นสหรัฐออกมาดีกว่าคาดก็จะช่วยให้ Re-rating ของ P/E Ratio ที่สูงถึง 24 เท่า ในตอนนี้ให้ไปต่อได้ แต่หากไม่ใช่ ดัชนีก็จะเกิดการปรับฐานลงมาได้ โดยนักวิเคราะห์อย่าง Morgan Stanley, Bank of America ได้ออกมาบอกว่าระวังการปรับฐานและให้ Take Profit เสียบ้าง

ตัวกำหนดถัดมา ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง จะส่งผลบวกตลาดตลาดหุ้น

ตัวกำหนดสุดท้าย คือ การเลือกตั้งสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปลายปีนี้ ตลาดหุ้นน่าจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนโยบายการลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่มีบางกลุ่มที่อาจเสียประโยชน์โดยเรื่องสำคัญ ได้แก่ สงครามการค้าซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานสะอาดที่อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนั่นเอง

กลยุทธ์ที่เหมาะสม จึงมองว่าควร Take Profit บางส่วน และบริหารพอร์ตลงทุนด้วย Structured Notes ในหุ้นกลุ่มที่ได้กำไรมาตอนต้นปีจะช่วยสร้างเกราะคุ้มกันได้ระดับหนึ่งเมื่อหุ้นผันผวน หากปลายปีดอกเบี้ยลดลง น่าจะเห็น Sector Rotation ไปยังหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กอีกครั้ง