KTC แย้มกำไรปีนี้โตทะลุเป้า ยอดใช้บัตร-สินเชื่อสูงเกินคาด

HoonSmart.com>>”บัตรกรุงไทย (KTC)” จับเข่าคุย “ทีดีอาร์ไอ” แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดีกว่า 6 เดือนแรก รวมทั้งปีโต 3.5% หนุนสินเชื่อบุคคลโต KTC เล็งปรับเพิ่มประมาณกำไรของปีนี้ หลังยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีโอกาสโตถึง 15% จากเดิมคาด 10% บริหารคุณภาพหนี้ได้ดี  คุมต้นทุนทางการเงินอยู่หมัด ปรับกลยุทธ์ออกหุ้นกู้ระยะสั้น 2-3 ปีบริหารดอกเบี้ย คาดครึ่งปีหลังเสนอขาย 4,000-5,000 ล้านบาท 

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานบริหารการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ทีดีอาร์ไอคาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 2566 โตมากกว่าครึ่งปีแรก รวมทั้งปีขยายตัว 3.5% มากกว่าปีก่อนที่เติบโต 2.6% ซึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทั้งการเดินทางของนักท่องเที่ยวในไทยและเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ การจับจ่ายใช้สอยฟื้นตัวและมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัวมากขึ้น

บริษัทบัตรกรุงไทยจะมีกำไรในปี 2566 สูงขึ้นกว่าเป้าหมายเดิม จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของ KTC เติบโตดีตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเทศกาลและมีวันหยุดยาว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ค่อนข้างดี แต่อาจจะมีการชะลอลงบ้างในช่วงเดือนพ.ค. และมิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นปกติของซีซั่นธุรกิจ โดยรวมมั่นใจว่าครึ่งปีหลังยังดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่เป็นช่วงเทศกาล ทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้ถึง 15% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10% และยังสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดีตามเป้าหมาย โดยมี NPLs รวมอยู่ที่ 1.9%

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 2.7% เทียบกับระดับ 2.6%ในปีก่อน เพิ่มขึ้นน้อยกว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เนื่องจากการออกหุ้นกู้ได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวะดอกเบี้ยในปัจจุบัน โดยจะออกหุ้นกู้ระยะสั้น 2-3 ปี และในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุไว้รองรับการขยายธุรกิจอีก 4,000-5,000 ล้านบาท

ในช่วงไตรมาส 1/2566  KTC มีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรม เท่ากับ 14.8% อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 22.5% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่ 17.7% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทเท่ากับ 12.2% และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 3.8% พอร์ตสินเชื่อรวม อยู่ที่ 14.5% โดยมีมูลค่าเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเท่ากับ 1.03 แสนล้านบาท

บริษัทให้ความสำคัญและส่งเสริมการช่วยเหลือ ติดตาม แก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาหนี้สินอย่างตรงจุดและทันท่วงที รวมถึงการพัฒนากระบวนการในการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการอย่างยั่งยืน โดยเคทีซีให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะเป็นจำนวน 1.99 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2% ของพอร์ตลูกหนี้รวม

ด้านนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ โครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก รวมทั้งปีอาจขยายตัวอยู่ที่ 3.5% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายปัจจัย ทั้งการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป อีกทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ และสงครามยูเครนที่ยังไม่สงบ

นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ อาจส่งผลให้งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2566 จะไม่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากนัก
ส่วนค่าเงินบาทปีนี้คาดเฉลี่ย 33.68 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเทียบกับค่าเฉลี่ยปีก่อนอยู่ที่ 35.05 บาท/ดอลลาร์ คาดสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ขึ้นไปจุดสูงสุดที่ 5.25-5.50% และจะคงที่ถึงปลายปีหลังจากนั้นจะลดลง

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้โตขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจเติบโต  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน และ 35.5 ล้านคนในปี 2567 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะลดลงจากปีที่แล้ว แม้อาจได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจจีน แต่ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่ถดถอย สำหรับการบริโภคภาคครัวเรือนได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุด อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนที่สูงนับตั้งแต่สถานการณ์โควิดถึงเกือบ 90% ของ GDP ในปัจจุบัน อาจเป็นปัจจัยจำกัดการบริโภค

“ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจสหรัฐจะโต 1.1% น้อยกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 2.1% ส่วนสหภาพยุโรปโตเพียง 0.4%เทียบกับ 3.5% ในปีก่อน ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์  สหรัฐและยุโรปเติบโตน้อยเพราะราคาสินค้าแพง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ผ่านจุดสูงสุดและลงมาแล้ว แต่ไม่กลับไปก่อนช่วงโควิด คาดปีนี้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก่อนโควิดอยู่ที่ 65 เหรียญ และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้คนออมเงินมากกว่าที่จะซื้อของ”นางสาวกิริฎา