จีนคุมเข้ม’ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรด’ ดึงความเชื่อมั่น

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.จีนได้จัดการขั้นรุนแรงที่สุดในการควบคุมการขายชอร์ต (short selling ) ต้องวางหลักประกัน 100% และกลยุทธ์ในการเทรดหรือลงทุนโดยใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณหรือโปรแกรมเทรด เพื่อสนับสนุนตลาดหุ้นของประเทศที่ไหลลง

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีนได้อนุมัติการเพิ่มข้อกำหนดมาร์จิ้นสำหรับการขายชอร์ตโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2567 ทำให้การซื้อขายของกองทุนเฮดจ์ฟันด์และนักลงทุนรายอื่นมีราคาแพงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน China Securities Finance Corp. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการให้ยืมหุ้นรายใหญ่ที่สุดของประเทศ จะระงับการให้ยืมหลักทรัพย์แก่โบรกเกอร์ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.เป็นต้นไป

ภายใต้กฎใหม่นี้ นักลงทุนต้องวางเงินประกันมาร์จิ้นเท่ากับ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ต้องการยืมเพื่อขายชอร์ต หน่วยงานกำกับดูแลประกาศเมื่อวันพุธ ก่อนการปรับเปลี่ยนอัตราส่วนนี้กำหนดไว้อย่างน้อย 80% ส่วนอัตรามาร์จิ้นสำหรับกองทุนส่วนบุคคลที่เข้าร่วมในการให้กู้ยืมหุ้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 120% จากอย่างน้อย 100%

สตีเวน เหลียง กรรมการบริหารของบล.ยูโอบีเคย์เฮียน ฮ่องกง กล่าวว่า ในระยะสั้น จะกระตุ้นให้มีการปิดสถานะ Short ที่มีอยู่ และจำกัดการเปิดกิจกรรมการขายชอร์ตครั้งใหม่ ในระยะกลาง ตลาด A-share ยังคงเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและรายได้ของบริษัท

มาตรการนี้ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากดัชนี CSI 300 ลดลงเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 7 วัน และเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าทางการต้องการหยุดการร่วงลง ซึ่งทำให้มูลค่าตลาดในประเทศ(onshore) หายไปแล้ว 1 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.

แต่แม้มาตรการส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี แต่บทบาทที่จำกัดของผู้ขายชอร์ตในจีนชี้ให้เห็นว่าผลกระทบระยะยาวอาจมีจำกัด

ทางการจีน และหน่วยงานในเกาหลีใต้และไทย เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่แข็งที่สุดในเอเชียในการจำกัดการขายชอร์ตและกลยุทธ์การซื้อขายเชิงปริมาณ เพื่อหนุนราคาหุ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ไขต้นตอของตลาดที่อ่อนแอได้มากนัก โดยในจีนยังมีความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับวิกฤติที่อยู่อาศัย ความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นอีกครั้ง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง

เรดมอนด์ หว่อง นักยุทธศาสตร์การตลาดของ Saxo Capital Markets กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวส่งสัญญาณอีกทางหนึ่งว่าหน่วยงานกำกับดูแลมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมหลักทรัพย์ เนื่องจากสถานะชอร์ตที่อาจกระจุกตัว และอาจหนุนราคาหุ้นบางตัวที่มีดอกเบี้ยระยะสั้นสูงและหายืมได้ยาก แต่สำหรับตลาดในวงกว้างอาจมีผลกระทบน้อย

การดำเนินการครั้งนี้ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีนสอดคล้องกับมาตรการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานกำกับดูแลนับตั้งแต่ อู๋ ฉิง รับหน้าที่ประธาน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า จะมีการตรวจสอบ quant funds และผู้เข้ามาใหม่จะต้องรายงานกลยุทธ์ของตนต่อหน่วยงานกำกับดูแลก่อนทำการซื้อขาย จีนยังได้ขยายขอบเขตการรายงานของนักลงทุนในต่างประเทศผ่านการเชื่อมโยงการซื้อขายระหว่างแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกง

ตลาดจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลรายวันที่เข้มงวดขึ้นและมาตรการปรับตัวอื่น ๆ ในเวลาที่เหมาะสม หน่วยงานกำกับดูแลกล่าว การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันความเสี่ยงและปกป้องการพัฒนาที่มั่นคงและเป็นระเบียบของตลาด

ขณะนี้หน่วยงานกำกับดูแลกำลังพิจารณาค่าธรรมเนียมสำหรับการรับส่งคำสั่งเพิ่มเติมใน high-frequency trade(HFT) แต่ก็ยอมรับว่า จำนวนบัญชี HFT ในประเทศจีนลดลงมากกว่า 20% ในปีนี้เหลือประมาณ 1,600 บัญชี

การขายชอร์ตในจีนได้ลดลงอย่างมากแล้วภายหลังมาตรการในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่การห้ามให้ยืมหุ้นบางส่วน ยอดคงค้างของการซื้อขายชอร์ตและการให้ยืมหลักทรัพย์ลดลง 64% และ 75% ตามลำดับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ตามรายงานของหน่วยงานกำกับดูแล

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีน ระบุว่าการซื้อขายชอร์ตมีเพียง 0.05% ของมูลค่ารวมของตลาด ยอดคงค้างมูลค่าการให้ยืมหลักทรัพย์ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่สิ้นปี 2566 เหลือ 31.8 พันล้านหยวน (4.4 พันล้านดอลลาร์) ณ วันอังคารตามข้อมูลที่รวบรวมโดย Bloomberg

ในจำนวนนี้ 29.6 พันล้านหยวนได้มาจากหุ้นที่จัดหาโดย China Securities Finance Corp. ตามข้อมูลของหลักทรัพย์ Huachuang

นักวิเคราะห์ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แม้มาตรการนี้อาจเพิ่มความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง แต่จะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ long-short จากการที่ต้นทุนการยืมหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพที่ลดลง และลดการทำผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด( outperform)

หุ้นจีนร่วงลงตั้งแต่เดือนพ.ค.หลังจากพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากผลกำไรของบริษัทที่ย่ำแย่ การปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปีของดัชนี CSI 300 หายไปแทบทั้งหมด ส่วนดัชนี MSCI China ตกลงสู่การปรับฐานทางเทคนิคก่อนหน้านี้ มีสัญญาณบ่งชี้ว่ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศกำลังหนุนตลาดอีกครั้งผ่านการซื้อกองทุน ETF

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะจัดการประชุมสมัยที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุก 5 ปีในวันที่ 15 กรกฎาคม ความคาดหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นั้นจางไป โดยนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs Group ไปจนถึง JPMorgan Chase & Co. กล่าวว่า จีนมีแนวโน้มที่จะ เพิ่มการใช้มาตรการที่มีอยู่

ที่มา-https://finance.yahoo.com/news/china-watchdog-tighten-stock-trading-120252458.html