“อีสท์สปริง” เสิร์ฟกองทุนพันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้นอายุ 1 ปี จ่าย 1.75%

HoonSmart.com>> บลจ.อีสท์สปริง ออกกองทุนพันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น อายุ 1 ปี โอกาสรับผลตอบแทน 1.75% ต่อปี เปิดจอง 7-14 มิ.ย.นี้

นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เปิดตัวกองทุนเปิดอีสท์สปริง พันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น 1Y2 (ES-GOVCP1Y2) ซึ่งเป็นกองทุนประเภทเทอมฟ้นด์ที่มุ่งรักษาเงินต้น ซึ่งผู้ลงทุนจะมีโอกาสได้รับเงินต้นคืน 100% และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหน่วยลงทุน โดยเปิดเสนอขายตั้งแต่วันที่ 7-14 มิ.ย.นี้ มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

กองทุนนี้มีนโยบายที่จะนำเงินลงทุนไปลงทุนในตราสารที่มุ่งให้เกิดการรักษาเงินต้น ได้แก่ ตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน ในอัตราส่วนเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้กองทุนจะลงทุนในตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัดส่วน 100% ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 1.95% ต่อปี โดยหลังจากหักค่าใช้จ่ายประมาณ 0.20% ต่อปีแล้ว คาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 1.75% ต่อปีของ NAV

สำหรับกองทุน ES-GOVCP1Y2 จะลงทุนครั้งเดียว และถือทรัพย์สินที่ลงทุนจนครบอายุโครงการ (Buy and Hold) โดยบริษัทฯ จะดำเนินการให้มีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติ และทำการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งจำนวนของผู้ถือหน่วยทุกราย ไปยังกองทุนเปิดทหารไทยธนรัฐ หรือกองทุนรวมตลาดเงินอื่นที่บริษัทจัดการเปิดให้บริการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ในวันทำการก่อนวันสิ้นสุดอายุโครงการ

อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่โฆษณาไว้ โดยผู้ลงทุนจะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนนี้ในช่วงเวลา 1 ปีได้ ดังนั้นหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก กองทุนอาจไม่ได้รับเงินต้นและผลตอบแทนตามที่คาดหมายไว้ หากผู้ออกตราสารหรือธนาคารที่กองทุนลงทุนไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนได้ และบริษัทจัดการจะสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนได้ เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ทำให้ความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ