“บัณฑูร-บรรยง” ประสานเสียงสนับสนุนมาตรการคุมสินเชื่อบ้าน ชี้เป็นหน้าที่แบงก์ชาติเห็นความเสี่ยงต้องป้องกัน ไม่ซ้ำรอยวิกฤติปี 2540 ขณะที่ “ผยง” ค้านมาตรการแบบเหมาเข่ง มั่นใจสถาบันการเงินหลายแห่งมีระบบคุมความเสี่ยงได้ดีอยู่แล้ว
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคาร กสิกรไทย (KBANK) กล่าวถึงแนวทางการออกเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะหาก ธปท. ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะหาวิธีการป้องกัน ดีกว่าที่จะปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้นมาก่อน
“ดีแล้ว ดีกว่าปล่อยให้บรรลัยกันอีกรอบ ถึงจะไม่รู้ว่าถ้าไม่ทำจะบรรลัยหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของ ธปท. ต้องเป็นคนอ่านโจทย์ความเสี่ยงในระบบว่ามากขนาดไหน เพราะถ้าไม่อ่านกันนั่นคือความล้มเหลวของธปท.ที่ปล่อยให้ระบบลากตัวเองลงเหว แล้วตัวเองนั่งดูตาปริบๆ แบบในปี 2540” นายบัณฑูร กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า “เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด ขาวหรือดำ เป็นดุลยพินิจของธปท. ส่วนใครอยากชี้แจง ก็ไปชี้แจงเขา แล้วธปท.จะเป็นผู้ตีกรอบ ขีดเส้นว่าควรจะอยู่ตรงไหน อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าแฟร์ เพราะไม่ใช่ว่าธปท.จะไม่ฟังความเห็น ธปท.ก็ฟัง แต่เรื่องนี้ต้องมีคนตัดสินคนหนึ่ง”
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เห็นด้วยกับเจตนาของธปท. เพราะหากเห็นว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบสามารถใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ (Macro Prudential) เข้ามาลดความร้อนแรงลงได้ แต่ต้องรอดูด้วยว่า ในทางปฏิบัติจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน
“หากย้อนไปดูในอดีต หลายครั้งช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตได้ แต่ในปี 2535 ธปท. จะออก Macro Prudential มาห้ามไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ขยายสินเชื่อเกินปีละ 18% แต่มีแรงกดดันทางการเมือง ทำให้ธปท. ต้องถอย และหลังจากนั้นอีก 4 ปีก็เห็นว่าเราเกิดวิกฤตอะไรตามมา พังทั้งประเทศ” นายบรรยง กล่าว
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะออกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยในลักษณะเหมาเข่ง เพราะปัญหาเกิดจากสถาบันการเงินไม่กี่แห่ง แต่กลับออกมาตรการควบคุมทั้งระบบ
“ทั้งที่สถาบันการเงินบางแห่งมีระบบการปล่อยสินเชื่อที่มีความสมดุลในเรื่องของผลตอบแทนกับความเสี่ยงภายใต้เกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งในเบื้องต้นได้เสนอความเห็นกับ ธปท. แล้วว่า ยังมีวิธีการอื่นแบบไม่เหมาเข่งแบบนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของธปท.ว่าจะเลือกใช้แบบไหน” นายผยง กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายผยง กล่าวว่า หากมีเกณฑ์ควบคุมออกมาในรูปแบบเดิม ธนาคารกรุงไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีการควบคุมความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว