HoonSmart.com>>6 เดือนแรกปี 67 ธุรกิจออกหุ้นกู้ระยะยาว 494,371 ล้านบาท ลดลงกว่า 1.1 แสนล้านบาท ไฮยีลด์บอนด์ขายได้เพียง 26,643 ล้านบาทต่ำกว่าที่ครบอายุ มีหลักประกันถึง 81% อายุสั้นลงเฉลี่ย 2.2 ปี ครึ่งปีหลังหุ้นกู้ครบดีล 4.4 แสนล้านบาท มั่นใจทั้งปีเสนอขายตามเป้า 9 แสนล้าน-1ล้านล้านบาท ส่วนผิดนัดมีเพียง 1,101 ล้านบาท ขอเลื่อนชำระ 18,876 ล้านบาท กระจุกที่ ITD 14,455 ล้านบาท เจพีมอร์แกนฯลดน้ำหนักตลาดไทย 10 เดือน เงินไหลออก 1.2 แสนล้านบาทไม่กระทบ
นางสาวอริยา ตีรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนปี 2567 หุ้นกู้ระยะยาวมีการออกขายมูลค่า 494,371 ล้านบาท ลดลงประมาณ 118,053 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 19% เนื่องจากหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ขายได้เพียง 26,643 ล้านบาท น้อยกว่าที่ครบอายุ โดยออกเป็นหุ้นกู้มีประกันถึง 81% และอายุเฉลี่ย 2.21 ปี สั้นลงจากปีก่อนที่ 2.48 ปี ส่วนใหญ่ที่ขายได้เป็นกลุ่ม Investment Grade สัดส่วน 95% มูลค่า 467,727 ล้านบาท อายุเฉลี่ย 4.4 ปี
” คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีหุ้นกู้ออกใหม่ใกล้เคียงกับที่จะครบกำหนด 442,910 ล้านบาท ซึ่งไตรมาส 3 มีหุ้นกู้ครบกำหนด 231,803 ล้านบาท และไตรมาส 4 มีหุ้นกู้ครบกำหนด 211,106 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Investment Grade ที่ยังไม่เสนอขาย แม้ว่าบริษัทใหญ่ๆมีช่องทางอื่นไม่ต้อง Rollover แต่ยังมั่นใจว่าปีนี้ธุรกิจจะออกตราสารหนี้ตามเป้าที่วางไว้ประมาณ 9 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มการเงินออกมากที่สุด เช่นลิสซิ่ง ตามด้วยธนาคาร มี 4-5 แห่ง อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ทั้งนี้กลุ่มพลังงานมีจำนวนบริษัทที่ออกลดลงจาก 25 บริษัทเหลือ 13 บริษัท บริษัทในกลุ่มปตท.ยังไม่ได้ขาย”นางสาวอริยากล่าว
ส่วนหุ้นกู้ผิดนัดชำระในช่วงครึ่งแรก มี 3 บริษัทไม่มีเรทติ้ง รวม 1,101 ล้านบาท ได้แก่ หุ้นกู้บริษัท พีพี ฮอลิเดย์ (PPH) 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท หุ้นกู้บริษัท ซิซ่า กรุ๊ป (CISSA) 1 รุ่น มูลค่า 217 ล้านบาท และ หุ้นกู้บริษัท ไอริส กรุ๊ป (IRIS) 2 รุ่น มูลค่ารวม 492 ล้านบาท ซึ่งมีปัญหามาตั้งแต่ช่วงโควิด และการผิดนัดลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 22 รุ่น จากผู้ออก 5 ราย มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท
สำหรับหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระ มูลค่ารวม 18,876 ล้านบาท โดยมีรายใหม่จำนวน 5 บริษัท ได้แก่หุ้นกู้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD)(BB+) 5 รุ่น มูลค่า 14,455 ล้านบาท, หุ้นกู้ของบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) 1 รุ่น มุลค่า 330 ล้านบาท, หุ้นกู้บริษัทโปรเอ็น คอร์ป (PROEN) 1 รุ่น 500 ล้านบาท, หุ้นกู้ของบริษัทอีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) (B+) 1 รุ่น 389 ล้านบาท และหุ้นกู้ บริษัทเอเซีย พรีซิชั่น (APCS) 1 รุ่น 385 ล้านบาท
นอกจากนี้มี 4 บริษัทที่ยังเลื่อนการชำระออกไปส่วนใหญ่ไม่มีเรทติ้ง ได้แก่ บริษัท สยามนุวัตร 3 รุ่น 520 ล้านบาท , หุ้นกู้บริษัทเจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล (JCK) 1 รุ่น 280 ล้านบาท , หุ้นกู้บริษัทคันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) 2 รุ่น 1,672 ล้านบาท, หุ้นกู้บริษัท เจซี เควิน ดีเวลลอปเม้นท์ (JCKD) 1 รุ่น 375 ล้านบาท สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายลง เมื่อเทียบกับในปี 2566 มีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระ 37 รุ่น จากผู้ออก 14 ราย มูลค่ารวม 12,443 ล้านบาท
” เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีหุ้นกู้ Default มากน้อยแค่ไหน แต่ตลาดจะระมัดระวังมากขึ้น นักลงทุนรอบคอบมากขึ้น บริษัทต้องหาช่องทางอื่นในการระดมทุน ส่วนที่เลื่อนชำระ เขาจ่ายได้ตามที่เลื่อน ทุกงวดจ่ายดอกเบี้ย บางรายก็ทยอยคืนเงินต้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่นักลงทุนไม่เชื่อใจเขาก็มีสิทธิไม่อนุมัติ”นางสาวอริยากล่าว
ขณะเดียวกัน สมาคมฯได้จับตากลุ่มบริษัทที่มีกระแสข่าวมีปัญหาสภาพคล่องหรือสถานะการเงินไม่ดี และทำงานใกล้ชิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากบริษัทใดใกล้ถึงกำหนดชำระ ก็ติดตามว่ามีแนวทางในการหาแหล่งเงินทุนอย่างไรบ้าง
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 2/67 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.7% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วงครึ่งปี นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งในไตรมาส 1 และ 2 รวม 66,514 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐ เพิ่มเป็น 4.36% จาก 3.84% ส่วนไทย 2.68% ลดลงจากระดับ 2.70% ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นต้นเหตุหนึ่งในการทำให้เงินทุนไหลออกไปสู่สหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจดีขึ้น
ส่วนการที่เจพีมอร์แกนนำพันธบัตรรัฐบาลของอินเดียรวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (GBI-EM) ที่จะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเดือนละ 1% เป็นเวลา 10 เดือน (มิ.ย.2567-มี.ค.2568) จนมีน้ำหนักรวม 10% ส่งผลต่อน้ำหนักของตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนในดัชนีลดลงประมาณ 1.60% น่าจะมีเงินไหลออกจากตราสารหนี้ไทยประมาณ 3,200 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยบ้าง แต่ไม่มีความผันผวนรุนแรง
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.1% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย อายุคงเหลือเฉลี่ย 9.0 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปี เมื่อสิ้นปี 2566
ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ณ สิ้นไตรมาส 2/67 ค่อนข้างทรงตัวจากปลายปี 2566 สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงตัวอยู่ที่ 2.50% ตั้งแต่การประชุม กนง. รอบเดือน ก.ย.66 โดย Bond yield รุ่นอายุ 2 ปี และ 5 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1 bps. และ 2 bps. ในขณะที่ Bond yield 10 ปี ปรับตัวลงเล็กน้อย 2 bps. จากสิ้นปี 66 มาอยู่ที่ 2.35% 2.47% และ 2.68% ณ สิ้นไตรมาส 2/67 ตามลำดับ
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) รุ่นอายุ 5 ปี ในช่วงครึ่งแรกปี 67 ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA และ A ค่อนข้างทรงตัวในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หากแต่หุ้นกู้ BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนที่ปรับตัวสูงขึ้นราว 24-32 bps. จากสิ้นปี 66 สะท้อนถึงส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit spread) ที่สูงขึ้นจากการที่ผู้ลงทุนมีความระมัดระวังการลงทุนหุ้นกู้กลุ่มดังกกล่าวมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/67 หุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA, A, BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ 3.15%, 3.26%, 3.55%, 4.76% และ 5.73% ตามลำดับ
“ผลสำรวจผู้ร่วมตลาด ส่วนใหญ่คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในปี 2567 โดยมี 43% มองโอกาส กนง.จะลดดอกเบี้ยลงในรอบเดือน ธ.ค.ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี ส่วนการคาดการณ์ Bond yield ไทย รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะขยับตัวลงเล็กน้อยเฉลี่ยราว 0.05%มาอยู่ที่ 2.47% และ 2.73% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อบอนด์ยีลด์ในอนาคตคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ”
นายสมจินต์กล่าวว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้เปิดตัวค่ากลางอัตราส่วนการเงินรายอุตสาหกรรม (Industry Financial Ratio) และ Financial ratio ของผู้ออกในรูปแบบ Percentile เทียบกับอุตสาหกรรม (Financial Ratios Comparing to Industry) บนเว็บไซต์ ThaiBMA เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่สำคัญ ประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแนวทางการดำเนินงานของ ThaiBMA ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนในครึ่งปีหลัง