HoonSmart.com>> “บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์” มองตลาดโลกครึ่งปีหลัง 67 เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น “Out of the Woods” เป็นโอกาสดีลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ แนะเน้นลงทุนหุ้นกลุ่มวัฏจักรมากขึ้น ส่วนธีม Next Generation ยังคงมุมมองเชิงบวกกลุ่ม Automation, Robotics, Future Cities พร้อมให้ความสำคัญหุ้นขนาดกลางที่มีคุณภาพและหุ้นญี่ปุ่น ด้าน “ตราสารหนี้” เน้นลงทุนหุ้นกู้คุณภาพดีและตราสารหนี้สกุลเงินสหรัฐฯในตลาดเกิดใหม่
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) จัดงานสัมมนาเอ็กซ์คลูซีฟ “มุมมองเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังปี 2567” (Market Outlook Second Half 2024) สำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (Ultra High Net Worth Individuals – UHNWIs) นำเสนอถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จัดทำโดยจูเลียส แบร์
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวว่า จากมุมมองเศรษฐกิจโลกครึ่งปี 2567 ที่จัดทำขึ้นโดยจูเลียส แบร์ พบว่า เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังเริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัว “Out of the Woods” สะท้อนถึงความหวังที่เรามีเมื่อเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเริ่มปรากฏ เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการกระจายการลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านมาตรการกระตุ้นทางการคลังจำนวนมาก และตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวขึ้น จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ช่วยให้เกิดความหวังในการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนที่กำลังจะมาถึง
ด้านยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะจีนกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจจากความยากลำบากของตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในขณะที่การค้าโลกได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการด้านอุตสาหกรรมของจีนที่จัดการกับปัญหาภายในประเทศและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่คาดว่าจะเข้าสู่วงจรการสต็อกสินค้ารอบใหม่ ทั้งนี้ Market Correction ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน โดยครึ่งปีหลังจะมีเหตุการณ์สำคัญที่น่าจับตามองคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567
“สำหรับมุมมองด้านตลาดหุ้นนั้น เรากำลังเปลี่ยนความสนใจไปที่วิธีการลงทุนที่เป็นวัฏจักรมากขึ้น โดยการปรับเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมและลดหมวดอุปโภคบริโภค โดยให้ความสำคัญกับหุ้นขนาดกลางที่มีคุณภาพและหุ้นญี่ปุ่น ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) จะยังคงมีความแข็งแกร่งจากเศรษฐกิจภายในที่ยังแข็งแรงและนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ในขณะที่ เงินเยน (JPY) อาจยังเผชิญกับแรงกดดันในทิศทางขาลงที่ยืดเยื้อ โดยการแทรกแซงจากกระทรวงการคลังอาจยืนระยะยาวไม่ไหว ด้านทองคำจะได้รับประโยชน์จากบทบาทในการเป็นเครื่องป้องกันความไม่แน่นอนทางการเมือง สุดท้ายนี้ สำหรับธีม Next-Generation เรายังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อ Automation, Robotics, และ Future Cities” นายพีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย