UN เผย’แบงก์ไทย’หนุน’เมียนมาซื้ออาวุธ’ SCB ปฎิเสธ ชี้แจงให้สินเชื่อธุรกิจปกติ

HoonSmart.com>>สหประชาชาติหรือ UN ออกรายงานกองทัพเมียนมาหันใช้บริการการเงินระหว่างประเทศจากธนาคารไทยมากขึ้น ในการจัดซื้ออาวุธ ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ ปฎิเสธทุกเรื่อง ยืนยันให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนธุรกิจลูกค้าไทยที่ต้องการชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค-บริการ ให้ความสำคัญตรวจสอบอย่างเคร่งครัด มูลค่าไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้านหุ้นกลุ่มแบงก์กอดคอกันร่วงแรงกว่าตลาดโดยรวม ต่างชาติทิ้งต่อกว่า 2 พันล้านบาท

ธนาคารไทยได้กลายเป็นผู้ให้บริการหลักในบริการทางการเงินระหว่างประเทศแก่รัฐบาลทหารของเมียนมา ทำให้สามารถซื้อสินค้าและอุปกรณ์เพื่อทำสงครามนองเลือดกับกองกำลังต่อต้านประชาธิปไตยและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกล่าวในรายงานที่เผยแพร่วันพุธที่ 26 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา

รายงานของทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งได้ตรวจสอบพบว่ารัฐบาลทหารสามารถจัดหาอาวุธอย่างต่อเนื่องได้ โดยการเปลี่ยนผู้ให้บริการด้านบริการทางการเงินและยุทโธปกรณ์ทางทหาร เนื่องจากแหล่งจัดหาให้ก่อนหน้านี้ประสบกับการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ

รายงานพบว่า บริษัทในประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางตะวันออกของเมียนมา ได้รับผลบวกจากการที่บริษัทในสิงคโปร์ถอนตัวจากการทำธุรกิจกับรัฐบาลเผด็จการทหาร

รายงานดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อสภาบริหารแห่งรัฐ “ยังคงใช้บริการเครือข่ายธนาคารระหว่างประเทศที่กว้างขวาง เพื่อการคงสถานะและการจัดหาอาวุธ”

“ในปีที่ผ่านมา ธนาคาร 16 แห่งใน 7 ประเทศได้ดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างทางทหารของ SAC และมีธนาคาร 25 แห่งได้ให้บริการธนาคารตัวแทนแก่ธนาคารของรัฐของเมียนมานับตั้งแต่รัฐประหาร” เป็นข้อมูลจากรายงานชื่อ Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the military Junta in Myanmar”ที่นำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เผด็จการทหารของเมียนมาขึ้นสู่อำนาจในเดือนก.พ. 2564 หลังจากที่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของออง ซานซูจี หลังจากที่กองกำลังความมั่นคงใช้กำลังปราบปรามการประท้วงอย่างสันติ จึงเกิดการต่อต้านด้วยอาวุธ ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมือง กองทัพถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง รวมถึงการทิ้งระเบิดพลเรือน

แอนดรูว์กล่าวในแถลงการณ์ว่า ข่าวดีก็คือว่ารัฐบาลเผด็จการโดดเดี่ยวมากขึ้น การจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ประจำปีของกองทัพเมียนมาผ่านระบบธนาคารอย่างเป็นทางการลดลงหนึ่งในสาม จาก 377 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2565 (เม.ย. 2565 – มี.ค. 2566) เหลือ 253 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2566 (เม.ย. 2566 – มี.ค. 2567)

“ข่าวร้ายก็คือ รัฐบาลทหารหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรและมาตรการอื่นๆ โดยการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในระบอบการคว่ำบาตร ย้ายสถาบันการเงิน และใช้ประโยชน์จากความล้มเหลวของประเทศสมาชิก (สหประชาชาติ) ในการประสานงานและบังคับใช้การดำเนินการอย่างเต็มที่”

รายงานก่อนหน้านี้ของแอนดรูว์ระบุว่า บริษัทในสิงคโปร์กลายเป็นแหล่งป้อนอาวุธที่ใหญ่เป็นอันดับสามของรัฐบาลเผด็จการทหาร แม้จะมีนโยบายระดับชาติที่ชัดเจนที่ขวางการถ่ายโอนอาวุธไปยังเมียนมาก็ตาม

หลังจากการนำเสนอรายงานดังกล่าวและข้อค้นพบจากการสอบสวนของรัฐบาลสิงคโปร์ “อาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องที่ส่งไปยังเมียนมาจากบริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ลดลงเกือบ 90%” รายงานฉบับใหม่ระบุ

รายงานระบุว่า ธนาคารในสิงคโปร์ที่อำนวยความสะดวกมากกว่า 70% ของการจัดซื้อของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ผ่านระบบธนาคารอย่างเป็นทางการในปีงบประมาณ 2565 กลับลดลงเหลือต่ำกว่า 20% ภายในปีงบประมาณ 2566

การส่งออกจากนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย “เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า จากเพียงกว่า 60 ล้านดอลลาร์เป็นเกือบ 130 ล้านดอลลาร์” ในช่วงปีงบประมาณ 2565 ถึงปีงบประมาณ 2566 รายงานระบุ

“การซื้อของ SAC หลายครั้งก่อนหน้านี้จากหน่วยงานในสิงคโปร์ รวมถึงชิ้นส่วนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ Mi-35 ที่ใช้ในการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน เป้าหมาย ขณะนี้มีแหล่งที่มาจากประเทศไทย” เอกสารระบุ

รายงานชี้ว่าธนาคารไทยว่ามีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจระหว่างประเทศแก่กองทัพที่ปกครองเมียนมา โดยยกตัวอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ที่รายงานกล่าวว่าได้ทำธุรกรรมมากกว่า 5 ล้านดอลลาร์ในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างทางทหารของเมียนมาร์ในปีงบประมาณ 2565 แต่เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2566

รายงานของแอนดรูว์เล่าถึงยอดการสู้รบในเมียนมาว่า มีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 5,000 รายนับตั้งแต่การยึดอำนาจ มีผู้พลัดถิ่น 3 ล้านคน และนักโทษการเมืองมากกว่า 20,000 คน

“ด้วยการพึ่งพาสถาบันการเงินที่ยินดีทำธุรกิจกับธนาคารของรัฐของเมียนมาภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร รัฐบาลทหารจึงเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็นในการดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน” แอนดรูว์กล่าว

“ธนาคารระหว่างประเทศที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมซึ่งรวมถึงธนาคารของรัฐของเมียนมา มีความเสี่ยงสูงที่จะช่วยให้มีการโจมตีทางทหารต่อพลเรือนชาวเมียนมา ผมขอเรียกร้องให้พวกเขาหยุดการกระทำนั้น ธนาคารมีพันธกรณีขั้นพื้นฐานที่จะไม่เอื้อให้เกิดอาชญากรรม ซึ่งรวมถึงอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วย”

ทางด้านธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ชี้แจงผ่านเว็บไซต์กรณีธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศไทยและเมียนมา ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์ให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าไทยที่ต้องการชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการ ไปยังประเทศเมียนมา โดยมีแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ความสำคัญกับการตรวจสอบทางด้านธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัด

จากกรณีธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับประเทศเมียนมาตามที่ปรากฏในรายงานสื่อนั้น ธนาคารได้ทำการตรวจสอบภายในแล้วพบว่า เป็นจำนวนธุรกรรมของลูกค้าองค์กรเพื่อการชำระค่าอุปโภคบริโภค และพลังงานซึ่งเป็นปกติธุระของธุรกิจ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการค้าอาวุธตามที่ปรากฏเป็นข่าว และเป็นมูลค่าธุรกรรมปกติ ซึ่งมิได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารมีการทำ Due Diligence ตรวจสอบความถูกต้อง และรายงานการทำธุรกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการทำธุรกรรมทุกรายการ

ธนาคารขอยืนยันแนวทางการดำเนินงานตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและเป็นไปโดยหลักธรรมาภิบาล ด้วยความโปร่งใสบนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อส่งมอบคุณค่าระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

รายงานของ UN ที่ออกมา ส่งผลกระทบเชิง Sentiment ลบต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ ทำให้ราคาร่วงลงแรงกว่าตลาด นำโดย SCB ปิดที่ 104 บาท -2 บาทหรือ-1.89% มูลค่าซื้อขาย 1,658 ล้านบาท KBANK ปิดที่ 126 บาท -0.50 บาทหรือ -0.40% BBL ปิดที่ 130.50 บาท -2.50 บาทหรือ-1.88% มูลค่าซื้อขาย 722 ล้านบาท TTB ปิดที่ .71 บาท -0.02 บาทหรือ -1.16% KTB ปิดที่ 16.90 บาท -0.10 บาทหรือ-0.59%

ขณะที่ดัชนีหุ้นปิดที่ 1,309.46 จุด ลดลง 9.69 จุด หรือ -0.73% มูลค่าซื้อขาย 34,104.71 ล้านบาท  หลังจากนักลงทุนต่างชาติทิ้งหนักขึ้นถึง 2,385.96 ล้านบาท ตามด้วยสถาบันไทยขาย 744.50 ล้านบาท และบัญชีบล.ขาย 213 ล้านบาท โดยนักลงทุนไทยซื้อกลุ่มเดียว ทั้งหมด 3,343.49 ล้านบาท ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามภูมิภาค  นอกจากเกิดแรงขายจำนวนมากจากกลุ่มแบงก์แล้ว พลังงานก็ลดลง  รวมถึงการเร่งปิดสถานะ TFEX เนื่องจากวันนี้ครบกำหนดอายุ Series M

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า หุ้นวันนี้ซึมมาก วอลุ่มเทรดแค่กว่า 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไม่มีประเด็นอะไรเด่นในช่วงสั้น ขณะที่ปัจจัยการเมืองยังไม่ชัดเจนแนวโน้มดัชนีฯและวอลุ่มเทรดจึงน่าจะซึมต่อไป

ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเคลื่อนไหวในแดนลบ หลัง Dollar Index แข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน ส่งผลให้สกุลเงินต่าง ๆ ในเอเชียอ่อนค่า โดยเฉพาะเงินเยนอ่อนค่ามาก ทำให้ต้องจับตาดูว่าจะมีการแทรกแซงจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หรือไม่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนตลาดในยุโรปเทรดบ่ายนี้ติดบเล็นก้อย

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.) ตลาดคงจะซึมตัวลงยาว จนกว่าจะมีความชัดเจนการเมือง ให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,300-1.320 จุด