ลุ้นเงินนอกไหลบ่าเข้าหุ้นไทยพ.ย.นี้ กสิกรฯจับตาเฟด-หนี้สหรัฐ กดค่าบาท

HoonSmart.com>>ธนาคารกสิกรไทยคาดช่วงสั้นฟันด์โฟลว์ยังคงไหลออกจากหุ้น-ตราสารหนี้ไทย รอความชัดเจนดอกเบี้ยเฟดในเดือนมิ.ย.-การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐ  หวั่นผิดนัด ระวังตื่นขายหุ้นหนีตาย  เข้าทองคำ-ดอลลาร์ กดดันค่าเงินบาทอ่อน เป้าหมาย 1เดือนผันผวนในกรอบ 33.8-35.4  คาดหวังฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทยรุนแรงเดือนพ.ย.-ธ.ค. จากตัวเลขนักท่องเที่ยวหนุน แนะรัฐบาลเซ็น FTA  กระตุ้นการลงทุนเอกชน ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงต่างชาติ  เพิ่มเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งออกปีนี้โตติดลบ  ด้านบล.เอเซียพลัสเตือนนักลงทุน เงินนอกไม่เข้ามา อย่าหวังหุ้นวิ่งแรง บล.หยวนต้าเชียร์ซื้อแบงก์ BBL-KTB โดดเด่นที่สุด

 

 

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยในงานสัมมนา “ปรับกลยุทธ์รับมุมมองตลาดการเงินที่ผันผวน”ว่า เงินทุนต่างประเทศที่ไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยในขณะนี้ จะยังไม่ไหลกลับมา จะต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในเดือนมิ.ย.นี้ว่าจะส่งสัญญาณอย่างไร ตลาดคาดว่าจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย จะลดลงได้ในเดือนก.ย.และมีความเป็นไปได้ที่จะลดลง 2 ครั้งในปีนี้เหลือ 4.7% หากมีความชัดเจน เงินจะค่อยๆไหลกลับเข้าเอเชีย ส่วนของไทยจะไหลเข้ามารุนแรงประมาณเดือนพ.ย. และธ.ค.นี้ เพื่อรอดูตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา รวมถึงความเสี่ยงการเมืองเพิ่มขึ้น หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. การปฎิรูปจะทำได้แท้จริงหรือไม่ สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดการประชุมกนง.ในวันที่ 31 พ.ค.นี้จะปรับขึ้น 0.25% เป็น 2%  และมีความเสี่ยงที่อาจต้องขึ้นให้สูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และคำมั่นนโยบายทางการเมืองที่ออกมา

ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวลง ในปีนี้ถึงเดือนเม.ย. มีจำนวน 8.2 ล้านคน ขณะที่ปี 2565 มีนักท่องเที่ยว 11.2 ล้านคน ส่วนเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยในไตรมาสที่ 4/2565 จำนวน 6.7 หมื่นล้านบาท ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสองไตรมาสนี้จะพีคตามฤดูกาล ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง อัตราเข้าพักอยู่ที่ 70% เทียบกับปี 2562 อยู่ที่ 78% ยอดการจองล่วงหน้าแนวโน้มลดลง เหลือ 27%

” ตอนนี้เงินไหลออกจากหุ้นและตราสารหนี้ระยะสั้น ทำให้เงินบาทอ่อนค่า คาดว่าในรอบ 1 เดือนข้างหน้า เป้าหมายกว้างมากอยู่ที่ 33.8-35.4 บาท สะท้อนถึงความผันผวน รายได้จากท่องเที่ยวยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินได้ แต่เดินช้าลง การเลือกตั้ง มีความกังวลในการจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไร เฟดยังออกมาย้ำว่ายังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. ยังชะลอไปก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดดอกเบี้ย ทำให้ตลาดเปลี่ยนมุมมอง ลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาดการณ์ และมีโอกาสปรับขึ้น ในเดือนก.ค. เกิดความสับสน ความผันผวนกลับมาอีกรอบ ผลสำรวจก่อนหน้านี้ 3 สัปดาห์ มีการขายดอลลาร์ล่วงหน้าซื้อบาท แต่ตอนนี้ขายดอลลาร์ล่วงหน้า ซื้อบาท โดยคงเป้าหมายสิ้นปีที่ 33.8 บาท ขณะเดียวกันนักลงทุนต้องการผลตอบแทนสูงขึ้นจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย 10.7% ณ วันที่ 22 พ.ค. เพราะมีความเสี่ยงสูงขึ้น”นายกอบสิทธิ์กล่าว

ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 ขยายตัวดีเกินคาด จากการท่องเที่ยว แต่ยังโตต่ำกว่าแนวโน้มระยะยาวประมาณ 5% และยังต่ำกว่าในปี 2563 หักเงินเฟ้อ ทำให้ทุกครั้งที่เจอวิกฤต กว่าจะฟื้นตัว กว่าจะปรับเข้าสู่การเติบโตระยะยาว ต้องใช้เวลานาน ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลต่อราคาสินค้า ดัชนีเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์กันถึง 90%  ทั้งนี้สิ้นปี 2565 แรงงานไทยมีรายได้ต่อเดือน 239 เหรียญสหรัฐสูงกว่ามาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา หากปรับขึ้นค่าแรงสูงขึ้น จะทำให้การลงทุนมีโอกาสย้ายออกไปเวียดนาม ปัจจุบันของไทยยังต่ำกว่าฟิลิปปินส์  สำหรับการลงทุนของภาครัฐบาล คาดขยายตัว 2.3% หากกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ล่าช้าเกินไป จะกังวลต่อการลงทุนของภาครัฐบาล ทั้งนี้ปี 2014 เกิดรัฐประหาร มีการตั้งรัฐบาลใหม่ จากที่เคยลงทุนจำนวน 2.28 แสนล้านบาท มีการรื้อโครงการเหลือ 2.09 แสนบาทต่อปี คาดการเบิกจ่ายทำได้ 74% ของงบประมาณที่ตั้งไว้

นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวล เรื่องการลงทุนภาคเอกชนต่ำมาก เป็นการลงทุนเพื่อชดเชยค่าเสื่อมเท่านั้น ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจำกัด ต้องพึ่งพาการส่งออก ลดความเสี่ยงที่กระจุกตัวในเรื่องการพึงพาท่องเที่ยวมากเกินไป  ซึ่งทางออกรัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้มีการใช้กำลังการผลิต ทำให้ไทยเซ็น FTA เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรง(FDI) เพราะหากไม่เซ็นข้อตกลงทางการค้า  การส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศต้องเจอกำแพงภาษี  และการลงทุนดีขึ้น  ผลิตสินค้าเพื่อขายไปในประเทศที่สาม นับเป็นกลยุทธ์ที่เวียดนามทำได้ดี

“เศรษฐกิจในปีนี้น่าจะโตได้ 3.7% มองการท่องเที่ยวฟื้น อาจจะมีจำนวน 28.5 -30 ล้านคน จะต้องลุ้นในไตรมาสที่ 4 พีคตามฤดูกาล การลงทุนยังโตได้ 2% แต่มีอุปสรรคในเรื่องการสู้รบ รัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้ง สหรัฐ -จีน การคว่ำบาตร ทำให้การค้าทั่วโลกชะลอตัว ส่วนไทย อยู่ในห่วงโซ่ของจีน ทำให้การส่งออกปีนี้โตติดลบ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลได้จากการท่องเที่ยว”

สำหรับเรื่องการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ ทำให้ตลาดกังวลมาก เพราะรัฐบาลกลางมีเงินสดเพียง 6.1 หมื่นล้านเหรียญ แนวโน้มลดลง หากเงินหมดไป ทำให้รัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ เอสแอนด์พีปรับลดอันดับเครดิต  ส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะทุกประเทศมีสถานะการถือครองดอลลาร์ เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก ส่วนนักลงทุนก็หันไปถือเงินสด ถือครองสินทรัพย์มั่นคง เช่น ทองคำ ดอลลาร์สหรัฐ กระทบค่าเงินเอเชียและค่าเงินบาท โดยเฉพาะประเทศที่เป็นลูกหนี้สกุลดอลลาร์  เช่น อินโดนีเซีย ส่วนไทยมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงตาม และตัวเลขเศรษฐกิจจีนก็ไม่สู้ดี   ขณะเดียวกันมีแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง  ราคาหุ้นปรับตัวลง

ด้านบล.เอเซียพลัสคาดตลาดหุ้นมีกรอบบนในการปรับตัวขึ้น(UPSIDE) จำกัด ถ้าขาดฟันด์โฟลว์หนุน แม้ว่าดัชนีหุ้นจะเริ่มยืนได้ และขยับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่หลุดพ้นภาวะผันผวน ตัวแปรสำคัญเป็นพัฒนาการของการเมืองในประเทศ

นับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.หลังการเลือกตั้งทั่วไปจนถึงปัจจุบันพบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่อง แบ่งเป็นการขายหุ้น 1.6 หมื่นล้านบาท และขายในตลาดตราสารหนี้ 2.9 หมื่นล้านบาท  น่าจะมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ตัวแปรสำคัญเป็นสถานการณ์การเมืองที่อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจ อย่างไรก็ตามในระยะกลาง เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเข้ารูปเข้ารอย เช่นการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จและเริ่มเดินหน้าบริหารประเทศ ก็น่าจะเห็นเงินทุนไหลกลับเข้ามาได้อีกครั้ง

ส่วนประเด็นต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่การแก้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ และ ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งนับวันยิ่งร้อนแรง คาดดัชนีมีแนวรับที่ 1520 จุด
แนวต้าน 1537-1545 จุด Top Pick เลือก CENTEL, COM7 และ CPALL

อ่านประกอบ

https://hoonsmart.com/archives/308757