บล.พาย ชูเรือธง “ไพรเวท เวลท์” โชว์พอร์ตลูกค้าครึ่งปีแรกแสนล.

HoonSmart.com >> บล.พาย ชูเรือธงใหม่ ธุรกิจ Private Wealth-Private Credit  โชว์พอร์ตรวมลูกค้าครึ่งปีแรกแตะ 1 แสนล้านบาท ปลื้มแอปพลิเคชั่น ” Pi Financial” ยอดฮิตนักลงทุนแห่ดาวน์โหลด ซื้อขายหุ้นนอก

นายบ๊อบ เวาเทอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ พาย กล่าวว่า ผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 พอร์ตลูกค้าทุกประเภท เติบโตกว่า 10% จากปีก่อน โดยแตะ 1 แสนล้านบาท ซึ่งธุรกิจให้บริการสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจนายหน้าซื้อขายหุ้น นักลงทุนใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม Pi Financial มากขึ้น มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นกว่า 1 แสนดาวน์โหลด มูลค่าลงทุนผ่านแอปดังกล่าวกว่า 1 พันล้านบาท ให้บริการซื้อ-ขายหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นฮ่องกง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เปิดให้บริการใหม่ Private Wealth ถือเป็นเรือธงใหม่ของบริษัท เป็นการบริหารพอร์ตลงทุนให้ลูกค้าที่มีมูลค่าสินทรัพย์ตั้งแต่ 50 ล้านบาท ขึ้นไป ลูกค้าให้การตอบรับที่ดี ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอลูกค้าให้ผลตอบแทนที่ดี สอดคล้องการลงทุนทั้งระยะสั้น-กลาง ตามความเสี่ยงและตรงกับความต้องการลูกค้า

หลังเปิดให้บริการ  Private Wealth เพียง 3 เดือน มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUA)   100,000 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนของลูกค้า Private Wealth   8-10% ใกล้เคียงกับผลตอบแทนเป้าหมายทั้งปี 67 ที่ 7-10% ถือว่าเป็นระดับที่บล.พาย – ลูกค้า มีความพอใจในภาวะที่การลงทุนมีความผันผวน

ปัจจุบันบริษัท ฯ มีสัดส่วนรายได้หลักจากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ , รายได้ซื้อขาย TFEX , รายได้การเป็นที่ปรึกษาการเงิน และรายได้ Private Wealth ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย แต่มองว่าในอนาคตจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนใน Private Credit ซึ่ง บล.พาย จับมือกับพันธมิตรระดับโลก คือ Apollo Global Wealth Management นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุน Private Credit ที่สร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอให้กับลูกค้า และเป็นการช่วยให้เกิดการสร้างความสมดุลให้กับพอร์ตของลูกค้า โดยให้สัดส่วนการลงทุนราว 40% และส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นการลงทุนใน Structure Note ที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนแบบ Passive ตามทิศทางของสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน โดยที่พอร์ตคำแนะนำในการลงทุนที่บล.พาย จัดให้คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 7-10% ต่อปี

นายบ๊อบ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีการเพิ่มความเข้มงวดในการกกกับดูแลการปล่อยมาร์จิ้นนั้น บริษัทเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว เพราะรายได้หลักไม่ได้มาจากการปล่อยมาร์จิ้นเป็นหลักอยู่แล้ว และการให้มาร์จิ้นก็มีความเข้มงวดมากขึ้นในการพิจารณาหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบล.พายอย่างมีนัยสำคัญ

นายณัฐพล จันทร์สิวานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหารสูงสุดสายการลงทุน บล.พาย กล่าวถึงมุมมองการลงทุนว่า หากมองไปในระยะข้างหน้าที่แนวโน้มจะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงของธนาคารกลางขนาดใหญ่ในโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสลดดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้ 1-2 ครั้ง แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะยังมีความแข็งแกร่ง แต่เริ่มเห็นร้อยร้าวเล็กๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐจากยอดค้าปลีกในเดือนพ.ค.67 เริ่มชะลอตัว ซึ่งเป็นช่องในการเปิดโอกาสให้เฟดลดดอกเบี้ยได้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามว่าการเลือกตั้งของสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้จะเป็นอย่างไร ใครจะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ และเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการให้คำแนะนำในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนของพอร์ตในระยะข้างหน้า

หากมองถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูงจากการลงทุน มองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงจังหวะที่ดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) 10 ปี ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เป็นจังหวะที่สามารถเข้าลงทุนได้ หากเฟดเริ่มส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยชัดเจนจะทำให้ Bond Yield 10 ปี มีโอกาสลงมาต่ำกว่า 4% จากปัจจุบันที่ 4.26% และทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้พลิกกลับมาเป็นบวก จากที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาติดลบค่อนข้างนาน ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยการลงทุนในตราสารหนี้แนะนำสัดส่วนในพอร์ตลงทุนอยู่ที่ 20%

ส่วนการลงทุนในหุ้นยังให้สัดส่วนในพอร์ตที่ 20% แต่ให้น้ำหนักไปที่หุ้นต่างประเทศมากราว 60% โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐที่ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับสูง แต่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และการเข้ามาของกระแส AI ที่ทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ปรับตัวขึ้นสูง หนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐทำ New high ต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันหุ้นในกลุ่มเทคฯ ขนาดใหญ่จะมีการปรับฐานลงมา แต่มองภาพระยะยาวยังน่าจะขึ้นไปได้ต่อ เพราะปี 67 เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำ AI เข้ามามีบทบาทในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการทำงานต่างๆของคน และจะเริ่มมีการพัฒนาขึ้นในระยะยาว เช่นเดียวกับช่วงเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ต ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงได้รับประโยชน์จากเทรนดฺดังกล่าวต่อเนื่อง แต่อาจจะต้องหาจังหวะการลงทุนในช่วงที่มีการย่อตัวลงมา

ขณะที่แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับลดลง มองว่าหากมีความชัดเจนตลาดหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จะเป็นตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะอินเดีย และเวียดนาม ที่คาดว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้ามามาก เพราะการลงทุนในด้านต่างๆ เติบโตขึ้นมาก และแนวโน้มเศรษฐกิจยังเติบโตได้สูง ส่วนตลาดหุ้นจีนมองว่ายังต้องรอความชัดเจนของผลที่เป็นรูปธรรมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน หลังจากช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นจากข่าวของมาตรการ แต่ก็เริ่มเห็นการปรับฐานลงมา ซึ่งมองว่านักลงทุนไม่ได้คาดหวังมากนัก แต่อยากเห็นความชัดเจนของเศรษฐกิจที่รับผลบวกจากมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมามากกว่า

ส่วนตลาดหุ้นไทยให้สัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 40% ในพอร์ตการลงทุนในหุ้น มองว่าตลาดหุ้นไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่จะได้ประโยชน์หากเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย แต่ยังมองภาพค่อนข้างยากว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตมากแค่ไหน แต่ในระยะสั้น ครึ่งปีหลังมองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างชัดเจน ทำให้เงินออกมาหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนที่เข้ามาช่วย sentiment ของตลาดหุ้นไทยได้บ้าง แต่ยังติดในเรื่องรอความชัดเจนของประเด็นทางการเมือง ทำให้มองว่าตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะยังแกว่งตัวในกรอบ 1,350-1,400 จุด และการลงทุนในตลาดทุนไทยมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาวมากกว่า